พระราหุล หรือพระนามเดิม เจ้าชายราหุล เป็นพระโอรสในเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า) กับพระนางยโสธรา ประสูติในวันที่พระบิดาออกผนวช
ในพระไตรปิฎกว่า เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อได้ทราบว่าพระราชโอรสประสูติ ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "ราหุ ชาโต พันธนัง ชาตัง" แปลว่า "'ราหุ (บ่วง) เกิดขึ้นแล้ว พันธนาการเกิดขึ้นแล้ว" หมายความว่า พระกุมารที่ประสูติจะเป็นบ่วงร้อยรึงพระองค์ไว้กับภริยาและชีวิตฆราวาส ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะทรงนึกว่าสิทธัตถราชกุมารทรงตั้งพระนามโอรสอย่างนั้น จึงทรงขนานนามพระภาคิไนย (พระเจ้าหลาน) ว่า "ราหุล" อันแปลว่า "บ่วง"
อย่างไรก็ดี ตามพระวินัยของนิกายสรวาสติวาทว่าพระนาม "ราหุล" มิได้มาจากรากศัพท์ "ราหุ" ที่แปลว่า "บ่วง" แต่มาจากศัพท์ "ราหุ" ที่แปลว่า "จันทรคราส" หรือที่ในภาษาไทยว่า "ราหู"[1] [2]
อนึ่ง ในพระไตรปิฎกพระธรรมบท มีตอนหนึ่งว่า ความปิติปราโมทย์ที่บุรุษได้รับจากภริยาและบุตร คือ "ราหุ" (แปลว่า "บ่วง") ที่ร้อยรัดชีวิตครอบครัวผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าทุกข์หรือสุข
ประวัติ
พระราหุลเป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ กับพระนางยโสธรา เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ประสูติวันเดียวกันกับที่พระบิดาเสด็จออกบวช ท่านจึงเจริญพระชันษาเติบโตโดยมิเคยเห็นพระพักตร์รู้จักพระบิดา
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและเสด็จไปเผยแผ่พุทธศาสนา ณ แคว้นมคธ ก็ทรงนิวัติกลับกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระบิดาและพระญาติประยูร และมีเหล่าสาวกติดตามเสด็จมาด้วย วันหนึ่งพระนางยโสธราทรงได้พบกับพระราหุล และมีรับสั่งให้พระกุมารราหุลไปทูลขอพระราชสมบัติ พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรพชาพระราหุลเป็นสามเณรและให้เสด็จติดตามพระองค์ไปด้วย พระกุมารราหุลจึงเป็นสามเณรรูปแรกในพุทธศาสนา
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวพระราหุลได้ทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพุทธศาสนาแล้ว ก็ทรงเสียพระทัยมาก เพราะทรงหวังให้พระราหุลเป็นรัชทายาทสืบราชสันติวงศ์ต่อไป พระองค์จึงเสด็จไปตัดพ้อต่อว่าพระพุทธเจ้า และทูลขอว่า ต่อไปถ้าจะบวชให้ใครอีก ขอให้มารดาบิดาของผู้จะบวชอนุญาตเสียก่อน พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นไปตามคำทูลขอ โดยมีข้อกำหนดว่า ผู้ที่จะเข้ามาบวช "จะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้บังคับบัญชาเสียก่อน"
สามเณรราหุลบรรพชาเมื่ออายุ 7 ปี พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟังมากมายหลายเรื่อง เมื่ออายุครบ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังป่าอันธวัน แขวงเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี หลังจากได้ฟัง "จูฬราหโลวาทสูตร" จากพระพุทธองค์ ก็สำเร็จบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระราหุลเถระ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า "เอตทัคคะ"(ผู้เลิศกว่าคนอื่นในด้านใคร่การศึกษา) คือ ชอบการศึกษาหรือขยันหมั่นในการเล่าเรียน
พระราหุลเถระนิพพานเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานระบุชัด ทราบเพียงว่า ท่านปรินิพพานก่อนพระอัครสาวกทั้งสอง และก่อนพระพุทธเจ้า โดยการทูลลาพระพุทธเจ้าไปนิพพานที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
คุณธรรมที่ควรยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง
- มีความอดทนเป็นเยี่ยม คือบรรพชาตั้งแต่อายุ 7 ปี ต้องอดอาหารในเวลาวิกาลตั้งแต่เที่ยงจนถึงรุ่งเช้า ตามปกติของพระภิกษุสามเณรในสมัยพุทธกาล
- เป็นผู้ว่าง่ายถ่อมตน ไม่ถือตัว
- เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาอย่างยิ่ง
- เป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร
- มีความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง
พระราชตระกูล
พระราชตระกูลในเจ้าชายราหุล
อ้างอิง
- ↑ Edward Joseph Thomas, The Life of Buddha as Legend and History. Routledge, 1975. Page 53, note 1.
- ↑ Raniero Gnoli (ed.) The Gilgit Manuscript of the Samghabhedavastu. Rome: Instituto Italiano per il Medio ed Estremo Oriente, 1977. 1:119.