พระยาศรีสหเทพ
(ทองเพ็ง ศรีเพ็ญ) |
---|
ข้อมูลส่วนบุคคล |
---|
เกิด | พ.ศ. 2335 |
---|
เสียชีวิต | พ.ศ. 2388 (53 ปี) |
---|
บุพการี | - นายชำนาญ (ทองขวัญ) (บิดา)
- ทองขอน (มารดา)
|
---|
อาชีพ | ขุนนาง |
---|
|
พระยาศรีสหเทพ (พ.ศ. 2335 – พ.ศ. 2388) มีนามเดิมว่า ทองเพ็ง หรือ เพ็ง เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ สกุลชาวมอญตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อดีตปลัดพระธรรมนูญ และปลัดบาญชีกรมมหาดไทยในรัชกาลที่ 2 อดีตขุนคลังคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นบุคคลที่ได้รับสมัญญาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็น ขุนคลังแก้ว[1]
ประวัติ
พระยาศรีสหเทพ นามเดิม ทองเพ็ง หรือ เพ็ง[2] เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๙ ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ ตรงกับปี พ.ศ. 2335[1] บิดาชื่อ นายชำนาญ (ทองขวัญ) สืบเชื้อสายลงมาจากพระยาแสนจ่ายากร (จรูญ) ขุนนางเชื้อสายมอญซึ่งเป็นบิดาของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) มารดาชื่อ ทองขอน สืบเชื้อสายลงมาจากพระยานครอินทร์ (สมิงนรเดชะ หรือมะซอน) มีพี่น้อง 2 คนชื่อ ทองพิมพ์ เป็นพี่สาว และ เทด เป็นน้องสาว
พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงเป็นหลานปู่ในหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของ เจ้าพระยามหาเสนา ต้นสกุลบุนนาค และหลานตาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงษ์ (รามัญวงศ์) พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงมีเชื้อสายแขกเปอร์เซียทางบิดา และมีเชื้อสายมอญทางมารดา
พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ[1] เป็นขุนคลังแก้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีบทบาทสำคัญในการทำสัมปทานไม้สักขอน สร้างรายได้เข้าคลังหลวงมากมายมหาศาล
ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ศรีเพ็ญ ผู้นำชาวมอญ ซึ่งตั้งบ้านเรื่อนอยู่บริเวณสี่แยกพระยาศรี ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘สี่กั๊กพระยาศรี’[3] ได้รวบรวมแรงงานชาวมอญก่อสร้างสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม และอยู่ในละแวกเดียวกัน จึงเรียกสะพานดังกล่าวว่า ‘สะพานมอญ’[4]
พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราภาพ[5]: (นิ) เวลา 11.30 น. เมื่อวันอังคารแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ ตรงกับปี พ.ศ. 2388 สิริรวมอายุได้ 53 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องศพเป็นเกียรติยศ[1] อาทิ ทองคำปิดหน้าศพ ซองทองคำมีธูปเทียนดอกไม้ให้ถือศพ ตลอมพอกพันโหมดเทศมีเกี้ยวทองคำสรวมศีรษะศพ เสื้อครุยสำรดทองและผ้าสองปักลายนุ่งศพ ผ้าส่านเทศสีขาวห่อศพ โกศไม้สิบสองลายกุดั่นบั้นด้วยกากรักปิดทองคำปลิว ชั้นแว่นฟ้ารองโกศสองชั้น ฉัตรเบญจาตีพิมพ์ 5 ชั้น 4 คัน ฉัตรกำมะลอ 3 ชั้น 4 คัน ตั้งลอมโกศ มีเครื่องประโคมแตรงอน แตรฝรั่ง จ่าปี่ จ่ากลอง กลองชะนะเขียว 12 คู่ ผ้าไตร 30 ผืน ผ้าไตรขาวเทศ 50 พับ เงินตราปราสาท 500 เฟื้อง พระราชทานพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม และพระราชทานเครื่องศพเสมอด้วยเกียรติยศเจ้าพระยาเสนาบดี[5]: (ไน)
บรรดาศักดิ์
- หมื่นพิพิธอักษร (ทองเพ็ง)[1]
- หลวงศรีเสนา (ทองเพ็ง)[1]
- พระศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)[5]: (โถ)
- พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)[1]
- พระยาเพ็ชรพิไชย (ทองเพ็ง) ศักดินา 5000[5]: (ที)
ตำแหน่งราชการ
- เสมียน[1]
- ปลัดพระธรรมนูญ กรมมหาดไทย ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
- ปลัดบาญชี กรมมหาดไทย
- จางวางกรมล้อมพระราชวัง[5]: (ที)
- รั้งตำแหนงสมุหนายก (ชั่วคราว) กรมมหาดไทย รัชกาลที่ 3[5]: (ทู)
- เสนาบดีกรมเกษตราธิการ (กรมนา) รัชกาลที่ 3[5]: (นา)
- อธิบดีกรมช่างทอง[5]: (นา)
- อธิบดีกรมช่างสิบหมู่
- อธิบดีกรมช่างสนะ
- ผู้ตรวจตราการสวนกาแฟหลวง
- ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของเสนาบดี[5]: (นา)
เครื่องยศขุนนาง
พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้รับพระราชทานเครื่องยศขุนนาง ดังนี้[5]: (ทา)–(ทุ)
- พานหมากหลังเจียดเลียมไม้สิบสองทองคำ
- ถาดหมาก
- คนโทน้ำมีพานรองทองคำ
- กระโถนบ้วนน้ำหมากทองคำ
- โต๊ะเงินคาวหวานคู๋ ๑
- แคร่คานหาม
ต้นสกุลศรีเพ็ญ
นามสกุล ศรีเพ็ญ เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Sribenya เป็นนามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 740 ใน สมุดทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน พระราชทานนามสกุลแก่พระยานิกรกิติการ (กั้ก) ผู้ว่าราชการเมืองแพร่ สกุลพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๙ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2456[6]
มรดก
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, วิจิตร เกิดวิศิษฐ์, อรรถจินดา ดีผดุง และสุเอ็ด คชเสนี. (2526, สิงหาคม). "สกุลศรีเพ็ญ: พระศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)", รายงานผลการวิจัย เรื่อง บทบาทในด้านสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของชนกลุ่มน้อยในกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี : มอญ [Social, Cultural and Political Roles of the Minority Group in Ratanakosin, History and their Changes in 200 years:The Mon]. (โครงการทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). กรุงเทพฯ: ฝ่ายวิจัย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 65–66.
- ↑ ศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ), พระยา. (2463). นิพนธของพระยาศรีภูริปรีชา. พระนคร: โรงพิมพ์ไท. ไม่ปรากฏเลขหน้า. "ที่เรือนมารดาในบ้านพระศรีสหเทพ (เพ็ง) ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสี่แยกถนนเจริญกรุงแลถนนเฟื่องนคร จึงเรียกว่าสี่กั๊กพระยาศรีมาจนทุกวันนี้"
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, ที่มาของชื่อ สี่กั๊กพระยาศรี เก็บถาวร 26 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทความ-สารคดี, ฉบับที่ 2617 ปีที่ 51 ประจำวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2547
- ↑ องค์ บรรจุน (14 พฤษภาคม 2006), "สะพานมอญ กรุงเทพฯ", monstudies.com, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2013, สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2008
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 ก.ศ.ร. กุหลาบ. (2449). ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง. พระนคร: ม.ป.ท. 454 หน้า.
- ↑ ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๙. (2456, 28 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 30. หน้า 2,094.
- ↑ ถนนศรีเพ็ญและตระกูลศรีเพ็ญ. (2554, 9 กุมภาพันธ์). คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2567.
หนังสืออ่านเพิ่ม