ปลาตะพาก เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) ในสกุล Hypsibarbus (/ฮีป-ซี-บาร์-บัส/) จัดเป็นปลาขนาดกลางในวงศ์นี้ มีรูปร่างลักษณะทั่วไปคล้ายปลาตะเพียนในสกุล Barbonymus ซึ่งอยู่วงศ์เดียวกัน แต่ปลาตะพากจะมีลำตัวที่ยาวกว่า และขนาดจะใหญ่ได้มากกว่า แพร่กระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และทางตอนใต้ของประเทศจีน พบอาศัยในแม่น้ำสายใหญ่รวมถึงลำธารน้ำตกบนภูเขาหรือป่าดิบชื้น
โดยมีขนาดลำตัวประมาณ 60-80 เซนติเมตร มีทั้งหมด 11 ชนิด (สูญพันธุ์ไปแล้ว 1 ชนิด ดูในตาราง) โดยมีชนิดที่รู้จักกันดีที่สุดคือ ปลาตะพากเหลือง (H. wetmorei)[2] โดยปลาในสกุลนี้ถูกแยกออกมาจากสกุล Puntius ในปี ค.ศ. 1996 โดยวอลเตอร์ เรนโบธ โดยมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากปลาในสกุลอื่น คือ มีก้านครีบเดี่ยวของครีบหลังมีขอบจักเป็นฟันเลื่อย ครีบท้องมีก้านครีบแขนง 8 ก้าน ใต้คางมีร่องแยกระหว่างขากรรไกรล่างและคาง ฐานครีบก้นยาวคิดเป็นร้อยละ 60 ของความยาวหัว ขอบเกล็ดแต่ละเกล็ดมีลายสีดำติดต่อกันเป็นร่างแห[3]
ปลาตะพากมีชื่อเรียกรวมกันแบบอื่นอีก อาทิ "ปลากระพาก" (ประพาสไทรโยค)[4], "ปลาปากหนวด", "ปลาปีก" (ภาษาอีสาน), "ปลาปากคำ" หรือ "ปลาสะป๊าก" (ภาษาเหนือ) เป็นต้น[3]
โดยที่ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypsibarbus มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า "ὕψι" (ฮิปซี) และ barbus (บาร์บัส) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ทั่วไปของปลาในวงศ์ปลาตะเพียน โดยมีความหมายถึง สันฐานที่มีความแบนข้าง[5]
การจำแนก
- Hypsibarbus antiquus †[6]
- Hypsibarbus annamensis (Pellegrin & Chevey, 1936)
- Hypsibarbus lagleri Rainboth, 1996
- Hypsibarbus macrosquamatus (Mai, 1978)
- Hypsibarbus malcolmi (Smith, 1945)
- Hypsibarbus myitkyinae (Prashad & Mukerji, 1929)
- Hypsibarbus pierrei (Sauvage, 1880)
- Hypsibarbus salweenensis Rainboth, 1996
- Hypsibarbus suvattii Rainboth, 1996
- Hypsibarbus vernayi (Norman, 1925)
- Hypsibarbus wetmorei (Smith, 1931)
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hypsibarbus ที่วิกิสปีชีส์