นิล ปักษี เป็นนักมวยเก่าซึ่งได้ต่อสู้อย่างโชกโชนมาแล้วในปักษ์ใต้ เป็นนักมวยฝีมือดีหาตัวจับยาก ตระกูลปักษี นับได้ว่าเป็นตระกูลมวยในบ้านพุมเรียง พ่อของนายนิลชื่อนายเพชรก็เป็นนักมวยไชยาชื่อดัง ได้เคยชกมวยกับนักมวยแขกตรังกานู และแขกปัตตานี ฯลฯ ครั้งฉลองตราเจ้าเมืองไชยา
ประวัติ
นิลกำพร้าพ่อแต่ยังเด็ก นายนิลได้ฝึกหัดท่าร่ายรำมาบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อนายนิลเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นภายใต้การอุปการะของแม่และปู่ ได้ฝึกมวยเพิ่มเติมจากครูนิน (บังเอิญชื่อพ้องกันแต่ครูนินสะกดด้วย น.)ซึ่งเคยเป็นครูมวยพ่อของนายเพชรอีกทีหนึ่ง เมื่อเป็นหนุ่มเต็มตัวได้เริ่มชกมวยครั้งแรกที่ศาลาเก้าห้อง (ศาลาพักคนเดินทาง ที่บิดาผู้เขียนสร้างให้เป็น สาธารณสมบัติ) ตำบลพุมเรียง ครั้งนั้นเป็นงานลากพระประจำปี นายนิลได้คู่ชกกับนายแพน บ้านปากท่อ ซึ่งเคยเข้ามาชกกับนักมวยนครราชสีมาถึงในกรุงเทพฯ รูปร่างนักมวยทั้งสองฝ่าย คือนายนิลและนายแพนพอฟัดพอเหวี่ยงกัน และเป็นการชกครั้งแรกด้วยกันทั้งคู่ การต่อสู้เป็นไปอย่างที่เรียกว่าถึงพริกถึงขิงเป็นที่สบอารมณ์คนดูอย่างยิ่ง ผลสุดท้ายปรากฏว่าเสมอกัน แต่เพื่อนฝูงต่างต้องประคองกันกลับบ้าน เพราะต่างนัยน์ตาปิดมองไม่ใคร่เห็นทางเดิน
นิล ปักษี ฝีมือทัดเทียมกับนายปล่อง จำนงทอง ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาคุณโปรดเกล้าจากสมเด็จพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ 5 ให้เป็นหมื่นมวยมีชื่อ เพราะได้เป็นผู้พิชิตมวยฝีมือดีลูกศิษย์พระเหมสมาหาร จ้าเมืองโคราชหรือปรมาจารย์ใหญ่ ซึ่งได้ทำให้เมืองโคราชได้ชื่อว่า “เมืองมวย” ทางฝ่ายเหนือ แต่เจ้าเมืองไชยาไม่ได้นำนายนิล ปักษี เข้ากรุงเทพฯพร้อมกับนายปล่อง จำนงทอง ด้วยเหตุที่ขาหนึ่งของนายนิลลีบเล็ก บิดาของผู้เขียนเกรงจะถูกตำหนิว่าคนร่างกายสมประกอบทั้งเมืองไชยาไม่มีแล้วหรือ จึงได้นำนักมวยพิการมาชกหน้าพระที่นั่ง เหตุนี้ทำให้นายนิล ปักษี น้อยเนื้อต่ำใจ และพยายามเข้ากรุงเทพฯ เพื่อชกมวยหน้าพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินโดยพละตนเอง แต่ทว่าเงิน 5 บาท ค่าโดยสาร เรือเมล์ไปกลับรวมค่าอาหาร 2 วัน 2 คืนไม่ได้ จึงพลาดโอกาสที่จะเป็นหมื่นเยี่ยงเพื่อนนักมวยที่มีฝีมือทัดเทียมกัน
ในบันทึกของสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โสม ฉนฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม กล่าวถึงนายนิล ปักษีว่า นายนิลครูมวยชาวไชยา ปะแป้งหน้านวลขาว นั่งขัดสมาธิบนครก (ตำข้าว) แล้วให้ลูกศิษย์เข้าชกพร้อมกันสามคน โดยครูนิลสามารถปิดป้องไม่ให้หมัดลูกศิษย์โดนหน้า และไม่เสียหลักตกจากครก (จากหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จองค์นั้น) นายนิล ปักษี เป็นครูมวยฝ่ายไทยพุทธ สมัยเดียวกันกับนายเผือก เป็นครูมวยฝ่ายไทยอิสลาม
ลูกชายของนายนิล ปักษีชื่อ นายเนียม ปักษี ได้เข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ ในสมัยสวนสนุกเป็นสนามสัมปทาน 10 ปี ของพระยาคทาธรบดี นายเนียมได้มาพักอยู่ที่บ้านไชยาและขึ้นชกที่สนามสวนสนุก 2-3 ครั้ง เป็นที่พออกพอใจของผู้ที่ได้ชมฝีมือของมวยไชยาขนานแท้และดั้งเดิม แต่นายเนียม มีโรคประจำตัวอันเกิดจากไข้มาลาเรีย (ปักษ์ใต้เรียกว่าไข้ป้าง) ถึงขนาดม้ามย้อย เวลาต่อยรู้สึกเหนื่อยและหอบเร็วผิดปกติ จึงต้องรีบกลับไชยา ทั้งๆที่ฝีมือเขายังฝังใจแฟนมวยทั่วไปของสนามมวยสวนสนุกแห่งนั้น นายนิลมีบุตรธิดาจากสองภรรยา รวม 6 คน