นิยามของตรา

นิยามของตรา (อังกฤษ: blazon) ในด้านการศึกษาทางด้านมุทราศาสตร์ และ ธัชวิทยา “Blazon” หรือ “นิยามของตรา” คือคำบรรยายอย่างเป็นทางการของลักษณะของตรา ที่ส่วนใหญ่เป็นการบรรยายตราอาร์ม หรือ ธง ที่สามารถทำให้ผู้สร้างสามารถสร้างตรา, ธง หรือ เครื่องหมายได้ตามความต้องการอย่างถูกต้อง ฉะนั้นรูปลักษณะและองค์ประกอบของตราอาร์ม หรือ ธงตามหลักแล้วไม่ใช่เป็นการบรรยายโดยการใช้รูป แต่จะเป็นการบรรยายโดยตัวอักษร (แต่ในสมัยปัจจุบัน จะมีการให้นิยามเพิ่มเติมและบรรยายอย่างเจาะจงกว่าที่เป็นมาด้วยรายละเอียดทางเรขาคณิต)

“นิยามของตรา” ใช้ภาษาเฉพาะทางในการเขียนนิยามตั้งแต่หลักการวางตำแหน่งของคำบรรยาย การใช้คำกิริยา ไปจนถึงหลัก และลำดับการเขียนคำบรรยายของแต่ละส่วนที่ย่อยออกไป เช่นคำแรกที่พบในการบรรยายตราคือชื่อผิวตรา ที่หมายถึงสีหรือผิวของพื้นตรา เช่น “Azure...” ซึ่งหมายความว่า “ (พื้นตรา) น้ำเงิน” ผู้อ่านที่เข้าใจหลักไวยากรณ์ของการเขียนคำนิยามจะทราบว่า “Azure...” เป็นสีของพื้นตราโดยไม่ต้องมีคำว่า “Field” ที่แปลว่าพื้นตรานำหน้าคำว่า “Azure...” เพราะตำแหน่งการวางคำเป็นไปตามหลักไวยากรณ์ของการเขียนคำนิยาม

นอกจากโครงสร้างการวางลำดับการบรรยายและการใช้ไวยากรณ์แล้ว นิยามของตราในมุทราศาสตร์ก็ยังใช้คำศัพท์ที่เป็นศัพท์เฉพาะกิจเช่นคำว่า “Charge” ที่หมายถึง “เครื่องหมาย” บน “พื้นตรา” (Field) หรือคำว่า “Attitude” ที่หมายถึง “ลักษณะการวางท่า” ของมนุษย์หรือสัตว์ที่ปรากฏบนตรา

นอกจากตราอาร์ม หรือ ธง แล้ว “นิยามของตรา” ก็อาจจะใช้ในการบรรยายลักษณะของสิ่งอื่นๆ ด้วยเช่น ตรายศ (badge), แถบคำขวัญ (banner) และ ตราประทับ

ไวยากรณ์

ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักร
ที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1837 เป็นตราอาร์มที่มีคำนิยามยาวเพราะความซับซ้อนของตราที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มารวมกันเป็นสหราชอาณาจักร (ดูรายละเอียดของนิยาม)

การให้ “นิยามของตรา” เป็นไปตามสูตรที่วางไว้เคร่งครัด สิ่งที่บรรยายแรกสุดและสำคัญที่สุดของตราคือโล่ (shield) ที่เริ่มด้วยการบรรยายสีของพื้นตรา:

  • นิยามของตราอาร์มเริ่มโดยการบรรยายสีของพื้นตรา (Field) หรือสีที่ใช้ในฉากหลังของตราหรือแต่ละส่วนของตราที่บรรยาย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผิวตรา (Tincture) สีเดียว เช่นถ้าบรรยายว่าผิวตราเป็น “เอเซอร์” (Azure) ก็จะทราบว่ามีพื้นสีน้ำเงิน หรือถ้าใช้ในการทำ “เอเซอร์” แม่พิมพ์ก็จะเป็นแนวขีดนอน ถ้าเป็นพื้นตราที่ซับซ้อน ก็จะใช้หลักการบรรยายพื้นตราซับซ้อน (Variation of the field) ในการให้คำนิยาม ตามด้วยผิวตรา เช่นถ้าบรรยายตราว่า “Chequy gules and argent” ก็จะหมายความว่าเป็นตราที่มีพื้นตราที่เป็นตาหมากรุกขาวสลับแดง ถ้าเป็นโล่ที่แบ่งออกเป็นช่อง (Division of the field) ก็จะบรรยายส่วนที่ช่องตราแต่ละช่อง ตามด้วยสีของผิวตราของช่องตราย่อยตามลำดับที่เริ่มจาก “dexter” (ช่องซ้าย (ขวาของผู้ถือโล่)) ไปยัง “sinister” (ช่องขวา (ซ้ายของผู้ถือโล่)) ถ้าแบ่งตามแนวตั้ง, “chief” (ตอนบน) และ “base” (ตอนล่าง) ถ้าแบ่งตามแนวนอน, หรือถ้าแบ่งเป็นสี่ส่วนก็อาจจะเริ่มด้วย “first and fourth” (บนซ้ายและล่างขวา) ตามด้วย “second and third” (บนขวาและล่างซ้าย) หลังกจากบรรยายช่องตราส่วนต่างๆ แล้วก็จะตามด้วยโล่ภายในตรา (Escutcheon) “en surtout” หรือ “โล่เล็ก” (ถ้ามี) ตัวอย่างการบรรยายโล่ที่ประกอบด้วยช่องตราก็ได้แก่ “Party per pale argent and vert” ซึ่งหมายความว่า “แบ่งสองแนวตั้ง ครึ่งซ้ายเงิน ครึ่งขวาเขียว” หรือ “Quarterly argent and gules” ซึ่งหมายความว่า “แบ่งสี่ ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย ขาว, แดง, ขาว, แดง”
  • จากเครื่องหมายก็เป็นลวดลายอื่นที่ปรากฏบนหรือรอบโล่ ถ้าสัญลักษณ์เป็นนกหรือสัตว์ ก็จะบรรยายลักษณะลักษณะการวางท่า (Attitude) ตามด้วยผิวตรา และต่อด้วยสิ่งต่างๆ ที่ใช้สีต่างจากสีหลักของเครื่องหมาย เช่น “An eagle displayed gules, armed and wings charged with trefoils Or” ซึ่งแปลว่า “อินทรีสีแดงแผ่, ปลายปีกมีจิกสามแฉกสีทอง” (ดูตราแผ่นดินของบรานเดนบวร์ก)

หลังจากบรรยายโล่แล้วก็จะเป็นการบรรยายเครื่องประดับอื่นๆ ที่รวมทั้งมงกุฎ/จุลมงกุฎ (ถ้ามี), หมวกเกราะ, แพรประดับ (torse), พู่ประดับ (mantling), เครื่องยอด (Crest) และ คำขวัญ (motto) หรือ war cry (ถ้ามี)

จากนั้นก็จะเป็นการบรรยายประคองข้าง (Supporters), ฐานรอง (Compartment) ตามความเหมาะสมเช่นในกรณีของตราของหลวงหรือของรัฐ หรือ ตราของขุนนางสืบตระกูล ส่วนประกอบแต่ละอย่างก็จะได้รับการบรรยายตามโครงสร้างทางไวยากรณ์ตามแบบเดียวกับการบรรยายสัญลักษณ์บนโล่ โดยการกล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏ บรรยายลักษณะ/การวางท่า ตามด้วยสี และส่วนอื่นของสิ่งที่บรรยายที่ใช้สีที่ต่างจากสีหลัก

ถ้าเป็นโล่ประกอบจากหลายโล่ การบรรยายก็จะทำทีละแผง เริ่มด้วยแถวบน (chief) ลงมาถึงแถวล่าง (base) และภายในแถวก็บรรยายจากขวาของผู้ถือโล่ไปทางซ้าย (สำหรับผู้ดูโล่จากซ้ายไปขวา) โล่ที่มีการแบ่งใช้คำบรรยายว่า “party per” หรือ “แบ่งสอง” ในอิสริยาภรณ์อังกฤษ (English heraldry) หรือ “parted per [line of division]” ในอิสริยาภรณ์สกอตแลนด์ (Scottish heraldry) แต่คำว่า “party” หรือ “parted” มักจะทิ้งจากคำบรรยาย เช่น “Per pale argent and vert, a tree eradicated counterchanged” (ครึ่งซ้ายเงินและเขียว ต้นไม้คาบสองส่วนกลับสี) การบรรยายสีบางครั้งก็จะแทนด้วย “of the first” หรือ “of the second” และต่อไป (สีแรก สีที่สอง ...) เพื่อเลี่ยงการเรียกสีที่ซ้ำกัน การบรรยายก็ตามลำดับของรงคตราที่บรรยาย “Counterchanged” หมายความว่าสัญลักษณ์คาบระหว่างสองบริเวณหรือสองช่องตรา และใช้สีของสองช่องที่แบ่งแต่กลับสีกลับข้างกันเพื่อให้เด่นจากพื้นหลัง

ตราอาร์มเดียวกันอาจจะวาดได้หลายลักษณะ และแต่ละภาพก็ถือว่ามีความหมายเดียวกัน เช่นการเขียนอักษร “ก” อาจจะใช้ฟอนต์ใดก็ได้เช่น “อักษราเมธี” หรือ “นาคราช” แต่ไม่ว่าจะเป็นฟอนต์ใดที่ใช้ต่างก็ยังเป็นอักษร “ก” ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนั้นรูปทรงของตราอาร์มก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ยกเว้นบางเพียงตราเท่านั้นที่มีระบุรูปทรงอย่างเฉพาะเจาะจง

ตราอิสริยาภรณ์เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อเสมียนอังกฤษยังคงพูดภาษาฝรั่งเศส ฉะนั้นศัพท์ที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของตราอิสริยาภรณ์อังกฤษจึงมาจากภาษาฝรั่งเศส และจะใส่คำคำวิเศษณ์หลังจากคำนามแบบภาษาฝรั่งเศส แทนที่จะตั้งไว้ข้างหน้าคำนามเช่นในไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษ

นิยามซับซ้อน

คำนิยามสมบูรณ์ของแต่ละตราก็มีระดับความซับซ้อนที่ต่างกันไป ตั้งแต่นิยามที่เป็นคำคำเดียว ไปจนถึงนิยามที่วนเวียนที่บรรยายตราที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบอันซับซ้อน ตัวอย่างของคำนิยามของตราก็ได้แก่:

หมายเหตุ: แปลตามหลักไวยากรณ์ของการเขียนนิยามของตรา

ตรา เจ้าของตรา Blazon นิยามของตราอาร์ม
บริตานี
ฝรั่งเศส
Ermine เออร์มิน
ตระกูลสโครพ
ตระกูลโกรฟเนอร์
Azure, a bend Or พื้นตราสีน้ำเงิน แถบทแยงซ้ายสีทอง
เอิร์สเตอร์เกิทแลนด์
สวีเดน
Gules a griffin with dragon wings, tail and tongue rampant Or, armed, beaked, langued and membered azure between four roses argent พื้นตราแดง, กริฟฟินมีปีก หาง และ ลิ้นอย่างมังกร ยืนผงาด ทอง, เล็บ จะงอยปาก และลิ้นสีน้ำเงินระหว่างดอกกุหลาบบานสี่ดอก
ฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. 1867
เมื่อเป็น
ส่วนหนึ่งของ
ออสเตรีย-ฮังการี
Quarterly, I azure, three lions' heads affrontés crowned Or (for Dalmatia) ; II chequy gules and argent (for Croatia) ; III azure, a river in fess gules bordered argent, thereupon a marten proper, beneath a six-pointed star Or (for Slavonia) ; IV per fess azure and Or, overall a bar gules, in the chief a demi-eagle able displayed addextré of the sun in splendour, and senestré of a crescent argent, in the base seven towers three and four gules (for Transylvania) ; enté en point gules, a double-headed eagle proper on a peninsula vert, holding a vase pouring water into the sea argent, beneath a crown proper with bands azure (for Fiume) ; overall an escutcheon barry of eight gules and argent impaling gules, on a mount vert a crown Or, issuant therefrom a double cross argent (for Hungary) .[1] แบ่งสี่
1 (บนซ้าย) พื้นสีน้ำเงิน, หัวสิงโตหันหน้าสวมมงกุฎทอง (สำหรับดาลเมเชีย) ;
2 (บนขวา) ตาหมากรุกแดงและขาว (สำหรับโครเอเชีย) ;
3 (ล่างซ้าย) พื้นสีน้ำเงิน, แม่น้ำแดงขวางขอบขาว ในแม่น้ำมีมาร์เตนภายใต้ดาวหกแฉกสีทอง (สำหรับสลาโวเนีย) ;
4 (ล่างขวา) แบ่งสอง ครึ่งบนสีน้ำเงิน ครึ่งล่างสีทอง, ครึ่งบนมีอินทรี ซ้ายเป็นพระอาทิตย์ส่องสว่าง และขวาเป็นพระจันทร์เสี้ยวสีขาว ครึ่งล่างมีหอเจ็ดหอ สามหอตอนบนสี่หอตอนบนล่างสีแดง (สำหรับทรานซิลเวเนีย) ;
ฐานแหลมด้านล่างพื้นแดง มีอินทรีสองหัวบนแหลมสีเขียวเทน้ำจากเหยือกที่ถือลงไปในทะเลสีขาว ภายใต้มงกุฏและแถบสีน้ำเงิน (สำหรับฟิยูเม) ;
กลางโล่เป็นโล่ภายในตรา ครึ่งซ้ายเป็นแถบขวางแดงสลับขาวแปดแถบ ครึ่งขวาเป็นภูเขาสีเขียวมงกุฎทองบนยอด [เหนือมงกุฎ]เป็นกางเขนสองชั้นสีขาว (สำหรับฮังการี)

อ้างอิง

  1. Velde, François (August 1998). "Hungary". Heraldry by Countries. สืบค้นเมื่อ 2007-12-13.
  • Brault, Gerard J. (1997). Early Blazon: Heraldic Terminology in the Twelfth and Thirteenth Centuries, (2nd ed.). Woodbridge, UK: The Boydell Press. ISBN 0-85115-711-4.
  • Elvin, Charles Norton. (1969). A Dictionary of Heraldry. London: Heraldry Today. ISBN 0-900455-00-4.
  • Parker, James. A Glossary of Terms Used in Heraldry, (2nd ed.). Rutland, VT: Charles E. Tuttle Co. ISBN 0-8048-0715-9.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!