ทะเลสาบไท่ ภาษาจีน 太湖 ความหมายตามตัวอักษร ทะเลสาบใหญ่
ทะเลสาบไท่ หรือ ไท่หู [ 1] (อังกฤษ: Lake Tai หรือ Lake Taihu; จีน: 太湖 ; พินอิน: Tài Hú; แปลตามตัวอักษรว่า "Great Lake") เป็นทะเลสาบ น้ำจืด ขนาดใหญ่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze Delta) ใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตั้งอยู่ในเขตมณฑลเจียงซู โดยมีบริเวณตอนใต้ของทะเลสาบติดกับเขตของมณฑลเจ้อเจียง พื้นที่ทะเลสาบมีขนาดประมาณ 2,250 ตารางกิโลเมตร (870 ตารางไมล์) และความลึกเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร (6.6 ฟุต)[ 2] จึงนับได้ว่าเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สามของประเทศจีน ต่อจากทะเลสาบผัวหยาง (จีน : 鄱阳湖 ; พินอิน : Póyáng Hú ; Gan: Po-yong U) และทะเลสาบต้งถิง (จีน : 洞庭湖 ; พินอิน : Dòngtíng Hú ) ภายในบริเวณทะเลสาบประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ กว่า 90 เกาะ[ 3] โดยเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กเพียงไม่กี่ตารางเมตรจนถึงเกาะขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร
ทะเลสาบไท่เชื่อมต่อกับคลองต้ายวิ่นเหอ (Grand Canal) ที่มีชื่อเสียงและเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำซูโจว (Suzhou Creek) เป็นต้น
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ทะเลสาบไท่ได้รับการรบกวนจากมลภาวะเป็นพิษอันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในบริเวณโดยรอบ
การก่อตัว
จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าโครงสร้างรูปทรงกลมของทะเลสาบไท่เป็นผลมาจากผลกระทบของดาวตก (meteor impact) โดยมาจากการค้นพบแร่ธาตุต่าง ๆ ในยุคดึกดำบรรพ์ คือ หิน shatter cones หิน shock-metamorphosed ควอตซ์ อุลกมณี และหิน shock-metamorphic unloading fractures[ 4] จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบความเป็นไปได้ว่ามีการอัดปะทะเป็นแอ่ง (impact crater) ที่เกิดขึ้นมากกว่า 70 ล้านปีก่อน หรืออาจเป็นช่วงปลายยุคดีโวเนียน (Devonian Period)[ 5]
จากการศึกษาฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ พบว่าพื้นที่บริเวณทะเลสาบไท่เคยเป็นพื้นดินแห้งมาก่อน จนกระทั่งยุคโฮโลซีน (Holocene) หรือมากกว่าหมื่นปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นทางน้ำไหลผ่านสู่ทะเลจีนตะวันออก ต่อมาสันดอนที่สะสมเพิ่มมากขึ้นบริเวณปากแม่น้ำแยงซี (อังกฤษ: Yangtze river; จีนตัวย่อ: 扬子江; จีนตัวเต็ม: 揚子江; พินอิน: Yángzǐ jiāng ) และแม่น้ำเฉียนถัง (อังกฤษ: Qiantang River; จีนตัวย่อ: 钱塘江; จีนตัวเต็ม: 錢塘江; พินอิน: Qiántáng Jiāng , หรือรูจักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า แม่น้ำเฉียน) ทำให้พื้นที่บริเวณทะเลสาบถูกปิดล้อมและไม่มีทางออกสู่ทะเลอีกต่อไป ภายหลังเมื่อมีการไหลเข้าของน้ำจืดจากแม่น้ำและฝนทำให้ทะเลสาบแห่งนี้กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดในที่สุด
ประวัติ
ตั้งแต่ยุคราชวงศ์จีนโบราณ ทะเลสาบไท่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่มีชื่อเสียงในด้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและล่องเรือ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพน่าสนใจหลายแห่งในบริเวณโดยรอบทะเลสาบ มีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากเคยเยี่ยมชมทะเลสาบแห่งนี้ อาทิ สมเด็จพระจักรพรรดิ มหาเสนาบดี นายทหาร บัณฑิต จิตรกร และกวีที่มีชื่อเสียง เป็นต้น[ 3]
สถานที่ชมทัศนียภาพ
ทะเลสาบไท่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากในด้านหินปูน ที่มีรูปร่างและโครงสร้างสวยงามเฉพาะตัว มีหินหลายชิ้นถูกนำไปใช้ประดับสวนโบราณเมืองซูโจวที่ใช้หินที่ได้มาจากทะเลสาบไท่แห่งนี้ หินที่ถูกใช้ประดับสวนจีนโบราณ (traditional Chinese gardens) จึงมักถูกเรียกว่า "หินบัณฑิต (Chinese scholar's rocks)" หรือ "หินทะเลสาบไท่ (Taihu stones)"
สถานที่ที่ดีที่สุดในการชมทัศนียภาพของทะเลสาบไท่ คือจากยอดเขาเจดีย์มังกร (Longguang Pagoda หรือ Dragon Light Pagoda) ในบริเวณสวนซีฮุ่ย (Xihui Park) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอู๋ซี (Wuxi)[ 3] เป็นจุดที่จะได้เห็นทั้งทัศนียภาพของเมืองอู๋ซีและทะเลสาบพร้อม ๆ กัน
หยวนโถวจู่ หรือแหลมหัวเต่า (鼋头渚; Yuantouzhu หรือ the Islet of Turtle head Island) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นแหลมคล้ายหัวเต่า ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของทะเลสาบไท่
เมืองสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์ทะเลสาบไท่ (Taihu Lake Film and TV Studio Town) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1987 โดยสถานีโทรทัศน์กลาง (China Central Television station) ในบริเวณสตูดิโอมีการสร้างเมืองจำลองหลายแห่งเพื่อใช้เป็นฉากในการถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น เมืองโบราณสมัยราชวงศ์ถัง เมืองโบราณแบบยุโรป เมืองในยุคสามก๊ก เป็นต้น[ 3]
ธุรกิจและอุตสาหกรรม
ทะเลสาบไท่เป็นที่รู้จักกันในฐานะแหล่งผลิตสำหรับอุตสาหกรรมประมงและกลุ่มเรือประมง รวมถึงเรือตกปลาส่วนตัวขนาดเล็ก[ 6] ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเล เช่น ปลา และปู เป็นต้น ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบไท่เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณโดยรอบด้วย
นอกจากนี้ ทะเลสาบไท่ยังเป็นถิ่นกำเนิดของการผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือเซรามิก ที่มีการผลิตอย่างกว้างขวางในพื้นที่นี้ และยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตหม้อชา (Ishing pottery factory) ที่มีชื่อเสียงมาก
ชิงช้าสวรรค์
ชิงช้าสวรรค์ (Ferris wheel) ขนาดใหญ่ ชื่อ "ดวงดาวแห่งทะเลสาบไท่ (The Star of Lake Tai) " มีความสูง 115 เมตร (377 ฟุต) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบไท่[ 7] สร้างขึ้นเสร็จในปี คศ 2008 ใช้เวลาประมาณ 18 นาทีในการหมุนครบหนึ่งรอบ นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมทัศนียภาพของทะเลสาบและศูนย์กลางเมืองจากชิงช้าสวรรค์นี้ได้อย่างสวยงาม
มลภาวะ
ทะเลสาบไท่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะมายาวนานหลายทศวรรษ แม้จะมีความพยายามในการลดมลพิษเหล่านั้น แต่หากไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพ ในช่วงปี 1980 และ 1990 จำนวนอุตสาหกรรมในบริเวณทะเลสาบมีเพิ่มมากขึ้นถึงสามเท่า และจำนวนประชากรยังมีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วย ในปี ค.ศ. 1993 เพียงปีเดียวมีน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ทะเลสาบถึง 1 พันล้านตัน นอกจากนั้นยังมีขยะอีก 450,000 ตัน และเศษซากสัตว์อีก 880,000 ตันที่ถูกนำมาทิ้งในทะเลสาบแห่งนี้ รัฐบาลกลางได้เริ่มเข้ามาบริหารจัดการและเริ่มรณรงค์การรักษาความสะอาดพื้นที่ทะเลสาบ รวมทั้งกำหนดค่ามาตรฐานทางมลภาวะต่าง ๆ ให้โรงงานอุตสาหกรรมทำตามในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ในปี ค.ศ. 1999 มีโรงงานถึง 128 แห่งถูกปิดลงเนื่องจากไม่ได้มาตรฐาน
แม้ว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ แต่ปัญหามลภาวะยังคงอยู่ในสภาวะรุนแรง[ 8] ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2007 ทะเลสาบมีสาหร่าย (algae) และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (cyanobacteria หรือ blue-green algae) ซึ่งเป็นสาหร่ายที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำจืดอยู่เป็นจำนวนมาก[ 9] อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น ภัยธรรมชาติ ครั้งใหญ่ แทนที่จะเรียกว่าเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยทะเลสาบไท่เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของประชาชนในบริเวณโดยรอบกว่า 30 ล้านคน รวมถึงชาวเมืองอู๋ซีด้วย[ 10] ราคาน้ำดื่มบรรจุขวดในช่วงนั้นมีการปรับขึ้นถึงหกเท่า ซึ่งต่อมารัฐบาลกลางได้มีคำสั่งห้ามการขายน้ำดื่มของโรงงานในบริเวณนั้นเกินราคาที่กำหนด[ 11]
ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2007 มีรายงานว่ารัฐบาลยื่นจดหมายเตือน รวมถึงสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 1,300 แห่งในบริเวณโดยรอบทะเลสาบไท่ อย่างไรก็ตามอู๋ลี่หง (อังกฤษ: Wu Lihong; จีนตัวย่อ: 吴立红; จีนตัวเดชต็ม: 吳立紅; พินอิน: Wú Lìhóng; เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1968) หนึ่งในผู้นำนักสิ่งแวดล้อมซึ่งตีพิมพ์เรื่องมลภาวะของทะเลสาบไท่แห่งนี้ได้ถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ในข้อหากรรโชกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดมลภาวะขึ้น[ 9] มณฑลเจียงซูเคยมีการจัดวางแผนงานในการทำความสะอาดทะเลสาบ[ 12] โดยมีนายเวิน เจียเป่า เป็นประธาน ซึ่งเป็นผู้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้ทะเลสาบไท่กลับสู่ภาวะปกติได้ภายในปี ค.ศ. 2012.[ 13] อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2010 หนังสือพิมพ์ ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist ) รายงานไว้ว่าความคืบหน้าในการแก้ปัญหามลภาวะของทะเลสาบไท่มีน้อยมาก จากการสำรวจและสัมภาษณ์ประชาชนในบริเวณโดยรอบทะเลสาบ พบว่ามีประชาชนจำนวนมากกล่าวว่าภาวะมลพิษยังคงมีอยู่ไม่แตกต่างจากสถานการณ์ในปี ค.ศ. 2007 ในขณะที่ Wu Lihong ผู้ซึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังนาน ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2007 ได้กล่าวว่านักข่าวท้องถิ่นแจ้งว่ารัฐบาลพยายามปิดข่าวความล้มเหลวในการแก้ปัญหาและการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของสาหร่ายในทะเลสาบ[ 14]
อ้างอิง
วิกิท่องเที่ยว มีคำแนะนำการท่องเที่ยวสำหรับ
ทะเลสาบไท่
↑ Also translated as Tai or T'ai Lake and as Taihu or T'ai-hu Lake .
↑ "太湖" [Lake Tai]. The Suzhou Science Window [苏州科普之窗 ] (ภาษาจีน). Science and Technology Association of Suzhou City [苏州市科学技术协会 ]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-06-11. สืบค้นเมื่อ 2014-06-13 .
↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Jiangsu.net (http://wuxi.jiangsu.net/attraction/premier.php?name=Lake_Taihu&city=Wuxi&id=51 )
↑ Wang Erkang; Wan Yuqiu; Xu Shijin (May 2002). "Discovery and implication of shock metamorphic unloading microfractures in Devonian bedrock of Taihu Lake". Science in China Series D: Earth Sciences . 45 (5): 459. doi :10.1360/02yd9048 . S2CID 195300513 .
↑ Wang, K.; Geldsetzer, H. H. J. (1992). "A late Devonian impact event and its association with a possible extinction event on Eastern Gondwana". Lunar and Planetary Inst., International Conference on Large Meteorite Impacts and Planetary Evolution : 77. Bibcode :1992lmip.conf...77W .
↑ Barrett, Rick (February 3, 2007). "China offers open waters" . Milwaukee Journal Sentinel . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2008-02-28. สืบค้นเมื่อ 2014-06-13 .
↑ 文涛 (September 1, 2008). " "太湖之星"摩天轮即将开放" . Xinhuanet (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ January 15, 2013 .
↑ Ma, Jun (2004). China's Water Crisis . Norwalk, CT: International Rivers Network. pp. 163–164. ISBN 1-891936-28-X .
↑ 9.0 9.1 Kahn, Joseph (October 13, 2007). "In China, a Lake's Champion Imperils Himself" . International Herald Tribune .
↑ "China's third-largest freshwater lake faces algae threat" . China Daily . Xinhua. April 14, 2008. สืบค้นเมื่อ April 20, 2008 .
↑ "Algae smother Chinese lake, millions panic" . MSNBC . AP . May 31, 2007.
↑ "China to clean up polluted lake" . BBC News . October 27, 2007.
↑ "Taihu cleanup plan" . China Daily - Across China: Beijing . April 4, 2008. p. 4. สืบค้นเมื่อ April 20, 2008 .
↑ The Economist , 7 August 2010 p 49.