ถั่วปากอ้า

ถั่วปากอ้า
ต้นถั่วปากอ้าขณะออกดอก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
วงศ์ย่อย: Faboideae
เผ่า: Vicieae
สกุล: Vicia
สปีชีส์: V.  faba
ชื่อทวินาม
Vicia faba
L.

ถั่วปากอ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Vicia faba) เป็นสปีชีส์หนึ่งของถั่วมีฝักในวงศ์ Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองในแถบแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ถั่วปากอ้ามีสารที่สามารถกระตุ้นอาการเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ป่วยที่มีโรคพร่องเอนไซม์ G-6-PD

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ฝักถั่วและเมล็ด

ต้นถั่วปากอ้าเป็นพืชล้มลุก เมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 0.5-1.7 เมตร ภาคตัดขวางของลำต้นคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใบยาว 10-25 เซนติเมตร กิ่งหนึ่งมี 2-7 ใบ และใบมีสีเขียวอมเทาไม่เหมือนกับพืชอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน ต้นถั่วปากอ้าไม่มียอดไว้สำหรับเลื้อย ดอกของต้นถั่วยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มี 5 กลีบ โดยที่กลีบบนและกลีบรองเกสรมีสีขาวล้วน ส่วนกลีบข้างเป็นสีขาวและมีจุดตรงกลางเป็นสีดำ

ฝักถั่วของมันมีขนาดกว้างและมีขนเล็ก ๆ หนาแน่นปกคลุม มีสีเขียวเมื่อยังอ่อนและเป็นสีน้ำตาลดำเมื่อแก่ ในธรรมชาติฝักถั่วยาว 5-10 เซนติเมตรและมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร แต่จากการพัฒนาการเพาะพันธุ์เพื่อการเกษตรทำให้ฝักยาว 15-25 เซนติเมตรและหนาถึง 2-3 เซนติเมตร ในหนึ่งฝักมีเมล็ดถั่ว 3-8 เมล็ด มีรูปร่างกว้างและแบน ในธรรมชาติเมล็ดคล้ายรูปวงรีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร แต่พันธุ์สำหรับเพาะปลูก เมล็ดยาว 20-25 มิลลิเมตร กว้าง 15 มิลลิเมตร หนา 5-10 มิลลิเมตร

ถั่วปากอ้ามีโครโมโซมเป็นดิพลอยด์ (2n) จำนวน 6 คู่ โดย 5 คู่มีเซนโทรเมียร์ที่เกือบถึงจุดปลาย (acrocentric) และ 1 คู่อยู่ที่กึ่งกลางพอดี (metacentric)

สายพันธุ์

ถั่วปากอ้ามีสามสายพันธุ์แบ่งตามขนาดของเมล็ดคือ[1]

  • V. faba var. major – broad bean ฝักกลม กว้างและยาว เมล็ดขนาดใหญ่, winsor bean ฝักกลมแบน
  • V. faba var. minor – field bean, tic bean เมล็ดขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ปลูกเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยพืชสด
  • V. faba var. equita – horse bean เมล็ดขนาดกลาง

การใช้ประโยชน์

ถั่วปากอ้าใช้รับประทานเป็นอาหารขบเคี้ยว

ถั่วปากอ้ารับประทานได้ตั้งแต่เป็นฝักอ่อน โดยนำมานึ่งหรือต้มใส่เกลือเล็กน้อย ฝักแก่นนำไปลวกน้ำเดือด ปอกเปลือก แกะเมล็ดข้างในไปต้มหรือนึ่งให้สุก ใช้ทำอาหารได้หลายแบบ เช่น ซุป สลัด ผัดกับเนื้อสัตว์ หรืออบรับประทานเป็นของว่างก็ได้[2]

ถั่วปากอ้าเมล็ดแก่ ดิบ
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์)
พลังงาน1,425 กิโลจูล (341 กิโลแคลอรี)
58.29 g
ใยอาหาร25 g
1.53 g
26.12 g
วิตามิน
ไทอามีน (บี1)
(48%)
0.555 มก.
ไรโบเฟลวิน (บี2)
(28%)
0.333 มก.
ไนอาซิน (บี3)
(19%)
2.832 มก.
วิตามินบี6
(28%)
0.366 มก.
โฟเลต (บี9)
(106%)
423 μg
วิตามินซี
(2%)
1.4 มก.
วิตามินเค
(9%)
9 μg
แร่ธาตุ
แคลเซียม
(10%)
103 มก.
เหล็ก
(52%)
6.7 มก.
แมกนีเซียม
(54%)
192 มก.
แมงกานีส
(77%)
1.626 มก.
ฟอสฟอรัส
(60%)
421 มก.
โพแทสเซียม
(23%)
1062 มก.
โซเดียม
(1%)
13 มก.
สังกะสี
(33%)
3.14 มก.

ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่
แหล่งที่มา: USDA FoodData Central

เกี่ยวกับสุขภาพ

ถั่วปากอ้าดิบมีอัลคาลอยด์ชนิดวิซีนและโควิซีนที่สามารถกระตุ้นอาการเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase[3][4] บริเวณที่เป็นจุดกำเนิดของถั่วนี้เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่มีมาลาเรีย การศึกษาในหลอดทดลองพบว่าการแตกที่เกิดจากการกระตุ้นของถั่วปากอ้าเป็นการป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากโปรโตซัวที่ก่อโรคมาลาเรีย เช่น Plasmodium falciparum จะไว่ต่อการแตกของเม็ดเลือดแดงที่เกิดจากการพร่องเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase[5] ถั่วปากอ้ามีอีโวโดปามากซึ่งเป็นสารที่ใช้รักษาโรคพาร์คินสัน[6] เปลือกหุ้มเมล็ดถั่วปากอ้ามีแทนนินที่เป็นโพลิเมอร์มาก[7]โดยเฉพาะชนิด proanthocyanidin[8]ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ได้ [9]

อ้างอิง

  1. ถั่วปากอ้า เก็บถาวร 2006-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย รศ.นิพนธ์ ไชยมงคล
  2. กรณิศ รัตนามหัทธนะ. เมล็ดอ่อนถั่วปากอ้า. ครัว. ปีที่ 19 ฉบับที่ 227. พฤษภาคม 2556. หน้า 14
  3. Kathrynne Holden. "Fava Beans, Levodopa, and Parkinson's Disease".
  4. Russ Parsons. "The Long History of the Mysterious Fava Bean". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2014-06-13.
  5. Nelson, L. David; Cox, M. Michael. 2005. “Chapter 14- Glycolysis, Gluconeogenesis, and the Pentose Phosphate Pathway” in Principles of Biochemistry. Freeman, New York. p. 551.
  6. Vered, Y; Grosskopf, I; Palevitch, D; Harsat, A; Charach, G; Weintraub, MS; Graff, E (1997). "The influence of Vicia faba (broad bean) seedlings on urinary sodium excretion". Planta medica. 63 (3): 237–40. doi:10.1055/s-2006-957661. PMID 9225606.
  7. The digestibility in piglets of faba bean (Vicia faba L.) as affected by breeding towards the absence of condensed tannins. A. F. B. Van Der Poela, L. M. W. Dellaerta, A. Van Norela and J. P. F. G. Helspera, British Journal of Nutrition (1992), Volume 68 – Issue 03, pp. 793–800, Cambridge University Press doi:10.1079/BJN19920134
  8. Qualitative analysis and HPLC isolation and identification of procyanidins from vicia faba. Rachid Merghem, Maurice Jay, Nathalie Brun and Bernard Voirin, Phytochemical Analysis, Volume 15, Issue 2, pages 95–99, March/April 2004 doi:10.1002/pca.731
  9. The polyphenolic content and enzyme inhibitory activity of testae from bean (Vicia faba) and pea (Pisum spp.) varieties. D. Wynne Griffiths, Journal of the Science of Food and Agriculture, Volume 32, Issue 8, pages 797–804, August 1981, doi:10.1002/jsfa.2740320808

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!