ซูฮาร์โต

ซูฮาร์โต
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
12 มีนาคม พ.ศ. 2510 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
ก่อนหน้าซูการ์โน
ถัดไปบาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 มิถุนายน พ.ศ. 2464
ยกยากาตา ดัตช์อีสต์อินดีส
เสียชีวิต27 มกราคม พ.ศ. 2551 (86 ปี)
จาการ์ตา อินโดนีเซีย
ศาสนาอิสลาม
พรรคการเมืองพรรคโกลคาร์
คู่สมรสซิตี ฮาร์ตีนะห์
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
สังกัดกองทัพบก
ประจำการ1940–1974
ยศจอมพล (Jenderal Besar)
บังคับบัญชากองทัพบก
กองบัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย

จอมพล ซูฮาร์โต (อินโดนีเซีย: Soeharto, Suharto) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศอินโดนีเซีย และเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียาวนานที่สุดของประเทศเป็นเวลา 31 ปี โดยได้รับฉายาจากนานาชาติโดยเฉพาะประเทศโลกตะวันตกว่า "The Smiling General"

ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซูฮาร์โตเป็นผู้นำทางทหารในยุคที่อยู่ใต้การปกครองของ ญี่ปุ่นและฮอลันดา เรื่อยมาจนได้รับยศพลตรี ซูฮาร์โตมีบทบาทมากจากเหตุการณ์ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ในการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2508 จนได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากซูการ์โนในปี พ.ศ. 2510 จนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังจากการเดินขบวนต่อต้านจากนักศึกษาและประชาชน

ภายใต้ยุคของเขาที่เรียกกันว่า "ยุคระเบียบใหม่" เขาสามารถสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งและใช้ระบบอำนาจรวมศูนย์ ทั้งยังสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เป็นอย่างดีและมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากโลกตะวันตกในช่วงสงครามเย็น ในสมัยของเขาช่วงต้นนั้นประเทศอินโดนิเซียเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในด้านอุตสาหกรรม มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และระดับการศึกษาที่ดีขึ้น[1][2] อย่างไรก็ดี เขาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในบรรดานักการเมืองที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขเงินที่คอร์รัปชันไปถึง 15-35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี[3][4][5]

ชื่อ

ตามวัฒนธรรมของชาวชวา เขามีชื่อเพียงชื่อเดียว ส่วนชื่อในทางศาสนามีชื่อว่า "อัลฮะจีญ์ มุฮัมมัด ซูฮาร์โต" แต่ไม่ได้ใช้ในทางราชการแต่อย่างใด ส่วนชื่อซูฮาร์โตนั้นถอดสะกดเป็นอักษรโรมันตามระบบใหม่ของอินโดนิเซียว่า "Suharto" ก่อนหน้านั้นสะกดว่า "Soeharto" ตามอักขระวิธีของภาษาดัตช์ ซึ่งเขาชื่นชอบการทับศัพท์แบบดัตช์มากกว่า สื่อภาษาอังกฤษมักจะสะกดชื่อเขาเป็น "Suharto" ในขณะที่สื่อในประเทศอินโดนิเซียสะกดเป็น "Soeharto"[6] ทั้งนี้ ชาวอินโดนิเซียจะจดจำเขาในนาม ปะก์ฮาร์โต (Pak Harto)[7] และได้รับสมญานามว่า บิดาแห่งการพัฒนาอินโดนิเซีย[8] อันเนื่องมาจากการบริหารประเทศและการดำเนินนโยบายของเขาในยุคระเบียบใหม่

ประวัติ

เขาเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2464 ในบ้านที่มีผนังไม้ไผ่สานแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเกมุสุข ทางตะวันตกของจังหวัดยกยาการ์ตาซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของเกาะชวา[9] เขาเป็นบุตรคนเดียวจากการแต่งงานครั้งที่สองของบิดาคือเคโตสูดิโร กับมารดาของเขาคือสุคิระห์ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นยกยาร์การ์ตาเอง และมีความเกี่ยวข้องกับสุลตานฮาเมงคุบูโวโนที่ 5[10]

ห้าสัปดาห์หลังจากเขาเกิดมา มารดาของเขามีอาการทางประสาท ทำให้เขาอยู่ในความดูแลของบิดาและป้าของเขาคือโกโมดีร์โจ หลังจากนั้นบิดาและมารดาของเขาได้แยกทางกัน เมื่อซูฮาร์โตอายุได้ 3 ปี เขาได้ตามไปอยู่กับมารดาที่แต่งงานใหม่กับชาวนาในพื้นที่ เขาได้ช่วยมารดาและพ่อเลี้ยงของเขาทำเกษตรกรรม[11] ต่อมาใน พ.ศ. 2472 บิดาของเขาก็พาไปอยู่กับน้องสาวต่างมารดาของเขาซึ่งแต่งงานกับปราวิโรวิฮาดิโจ เจ้าหน้าที่กรมเกษตรในเมืองวูรยานโตโรซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งกันดาร ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองโวโนกีรี ต่อมาได้ไม่นานพ่อเลี้ยงของเขาก็พาเขากลับไปหามารดาที่หมู่บ้านเกมุสุข ส่วนบิดาของเขาก็พาเขาย้ายกลับมาอยู่วูรยานโตโรอีกครั้งหนึ่ง[12]

ซูฮาร์โตมีรูปร่างที่คล้ายกับบิดาของเขา ใน พ.ศ. 2474 เขาได้ย้ายไปอยู่โวโนกีรีเพื่อเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา โดยอาศัยอยู่กับสุลาร์ดี ซึ่งเป็นบุตรของปราวิโรวิฮาดิโจ ต่อมาเขาได้อยู่กับฮาดิโจวิโจโน ผู้เป็นญาติทางฝั่งบิดาของเขา ขณะที่เขาอาศัยอยู่กับญาติ่งบิดานั้น เขาได้รู้จักกับดาร์จัตโม ดูคุน ซึ่งเป็นหมอผีในท้องถิ่น ทำให้ส่งผลต่อพฤติกรรมของเขาในเวลาต่อมาจนกระทั่งเขามาเป็นประธานาธิบดีในภายหลัง ด้วยเหตุที่ทางครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินและไม่มีเงินที่จะชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับเขา ทำให้เขากลับไปอาศัยอยู่กบบิดาที่เกมุสุขอีกครั้ง และเขาได้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมมูฮัมมาดียะห์ที่มีค่าธรรมเนียมการศึกษาน้อยกว่าจนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2482[12][13]

การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวเขาแตกต่างจากครอบครัวอื่นในประเทศที่สอนเกี่ยวกับความเป็นชาตินิยม โดยเฉพาะกับซูการ์โนซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอินโดนิเซีย ในชีวิตในวัยเด็กเขาไม่ได้สนใจทางการเมืองหรือความหวาดกลัวของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกเหมือนกับซูการ์โนและคนอื่นในแวดวงการทหารและการเมือง นอกจากนี้ ซูฮาร์โตไม่ได้สนิทหรือรู้จักกับโลกภายนอก เขาจึงไม่ได้สนใจศึกษาภาษาดัตช์หรือภาษาอื่นในแถบโลกตะวันตก จนกระทั่งเขาได้มาศึกษาภาษาดัตช์ในตอนที่เขาได้รับราชการในกองทัพเนเธอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2484[13]

อ้างอิง

  1. Miguel, Edward; Paul Gertler; David I. Levine (January 2005). "Does Social Capital Promote Industrialization? Evidence from a Rapid Industrializer". Econometrics Software Laboratory, University of California, Berkeley.
  2. McDonald, Hamish (28 January 2008). "No End to Ambition". Sydney Morning Herald.
  3. http://www.infoplease.com/ipa/A0921295.html
  4. Global Corruption Report 2004: Political Corruption by Transparency International - Issuu. Pluto Press. 2004. p. 13. ISBN 0-7453-2231-X – โดยทาง Issuu.com.
  5. "Suharto tops corruption rankings". BBC News. 25 March 2004. สืบค้นเมื่อ 4 February 2006.
  6. Romano, Angela Rose (2003). Politics and the press in Indonesia. p. ix. ISBN 0-7007-1745-5.
  7. Commemorating 100 years of Pak Harto, Historical trace to the childhood home
  8. Mengapa Soeharto Disebut Bapak Pembangunan?
  9. Tom Lansford. Historical Dictionary of U.S. Diplomacy since the Cold War. Scarecrow Press; 10 September 2007. ISBN 978-0-8108-6432-0. p. 260.
  10. Tempo (Jakarta), 11 November 1974.
  11. McDonald (1980), p. 10.
  12. 12.0 12.1 McDonald (1980), p. 11.
  13. 13.0 13.1 Elson (2001), pp. 1–6.

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า ซูฮาร์โต ถัดไป
ซูการ์โน
ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย
(12 มีนาคม พ.ศ. 2510 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2541)
ยูซุฟ ฮาบิบี

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!