ชุมพล กาญจนะ (เกิด
12 ธันวาคม พ.ศ. 2488) อดีตปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 สมัย อดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[1]
ประวัติ
ชุมพล กาญจนะ เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมรสกับนางโสภา กาญจนะ มีบุตรธิดาด้วยกันสามคน ได้แก่ นายแสงโรจ กาญจนะ, นายวิทวัฒน์ กาญจนะ และนางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี 2 สมัย
การทำงาน
ชุมพล กาญจนะ เริ่มทำงานการเมืองโดยการเป็นกรรมการสุขาภิบาลเวียงสระ เป็นรองประธานสุขาภิบาลเวียงสระ และเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนได้รับเลือกเป็นประธานสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เขาเข้าสู่งานการเมืองระดับชาติครั้งแรกใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ทีมเดียวกันกับ บัญญัติ บรรทัดฐาน และ ประวิช นิลวัชรมณี และได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน ต่อเนื่อง 4 สมัย คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539
ต่อจากนั้นได้รับเลือกตั้งในเขตเดียวเบอร์เดียวอีก 2 สมัย คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 และ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 กระทั่งในปี 2550 ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบแบ่งเขต 3 คน อีกครั้ง เขาได้ลงเลือกตั้งร่วมกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ประพนธ์ นิลวัชรมณี ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยที่ 7 กระทั่งในปี 2553 เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญ[2][3]
ชุมพล เคยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกีฬาในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 17 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอาคม เอ่งฉ้วน) ในปี 2542 เป็นประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 21
ในปี 2563 ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 นายชุมพล ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง[4] โดยการสนับสนุนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[5] แต่เขาได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 2[6]
ในวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นายชุมพลได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ โดยเตรียมย้ายมาสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมกับเปิดตัวในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2565 พร้อมกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และนายชัชวาลล์ คงอุดม[7]
วันที่ 9 ม.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรมว.กลาโหมได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้แต่งตั้ง นายชุมพล กาญจนะ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ และ ชัชวาลล์ คงอุดม[7]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง