แผนที่แสดงการตั้งถิ่นฐานสแกนดิเนเวีย ของชาวไวกิง สีแดงเข้ม-ระว่าง ค.ศ.701-800, สีแดง-ระหว่าง ค.ศ. 801-900, สีส้มเข้ม-ระว่าง ค.ศ. 901-1000, และสีเหลือง-ระว่าง ค.ศ. 1001-1100, บริเวณสีเขียวแสดงพื้นที่ที่มักถูกโจมตีโดยพวกไวกิงบ่อยแต่ไม่มีการตั้งถิ่นฐานมาก
ไวกิง (อังกฤษ : Vikings ) ในความหมายหลักหมายถึงชนเผ่านักรบ นักการค้า และนักตั้งถิ่นฐานจากนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก ซึ่งบุกรบชนะ ยึดครอง และตั้งอาณานิคม อาณาเขตในส่วนใหญ่ของอังกฤษ นอร์ม็องดี และรัสเซีย เมื่อระหว่างประมาณ ค.ศ. 657 - ค.ศ. 1047 นอกจากนี้ยังบุกจู่โจมสเปน โมร็อกโก และอิตาลี ติดต่อการค้ากับจักรวรรดิไบแซนไทน์ เปอร์เซีย และอินเดีย ชาวไวกิงยังได้ค้นพบและยึดครองไอซ์แลนด์ และกรีนแลนด์ เดินเรือไปถึงชายทวีปอเมริกาเหนือ อีกด้วย
ชนเผ่านี้เป็นนักเดินเรือที่ชำนาญ กล้าที่จะนำเรือแล่นออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อหาหมู่เกาะเป็นดินแดนทำมาหากินให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากการรบกวนของชนเผ่าอื่น ไวกิงจึงเป็นชาวยุโรปพวกแรกที่เดินเรือออกไปนอกทะเลลึก และลอยลำอยู่ท่ามกลางลูกคลื่นและแสงแดด มองไปรอบด้านจะเห็นแต่ขอบฟ้าและพื้นน้ำเท่านั้น แต่ในการค้นหาแผ่นดินใหม่ พวกไวกิงใช้วิธีปล่อยนกดุเหว่าที่นำติดไปกับเรือด้วยให้ออกจากกรงขัง เมื่อนกดุเหว่าหลุดออกจากกรงขัง มันจะโผบินเป็นวงกลมสูงขึ้นไปในอากาศ ถ้ามันบินกลับย้อนทางเดิม ก็หมายความว่าเบื้องหน้าต่อไปนั้นจะไม่มีแผ่นดินอยู่เลย แต่ถ้ามันบินพุ่งไปในทะเลทางทิศใดทิศทางหนึ่ง พวกไวกิงก็ทราบได้ทันทีว่า ทิศทางนั้นต้องมีผืนแผ่นดินอยู่ไกลลับสายตาเบื้องหน้าโน้น ซึ่งพวกเขาจะนำเรือออกค้นความจนพบดินแดนนั้นได้
ไวกิงได้ยกกองทัพบุกอังกฤษ ทางชายฝั่งนอร์ทัมเบรีย ตอนเหนือของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 793 บุกเผาทำลายโบสถ์แห่งลินดิสฟาร์นและฆ่าพระบาทหลวงจนหมด ในอีกสองปีต่อมาก็ได้รุกลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่อังกฤษในพื้นที่ที่เป็นสกอตแลนด์ ปัจจุบัน บุกโจมตีไอร์แลนด์ และตั้งราชอาณาจักรไวกิง ที่เมืองดับลิน ลิเมอริก และวอเตอร์ฟอร์ด แม้เมื่อแรกพวกไวกิงจะทำลายโบสถ์และฆ่าบาทหลวง แต่ในที่สุดชาวไวกิงได้เข้ารีต เป็นคริสต์ศาสนิกชน ไวกิงยึดครองเมืองต่าง ๆ ได้หลายเมือง กษัตริย์ไวกิงที่มีนามว่า แฮรัลด์ บลูทูท (Harald Bluetooth) ได้เข้าปกครองอังกฤษและไอร์แลนด์
ในปี ค.ศ. 874 เอริกเดอะเรด (Eric the Red) นักรบไวกิงผู้ถูกเนรเทศจากไอร์แลนด์ได้อพยพพาครอบครัวและเรือ 25 ลำเดินทางไปทาง ทิศตะวันตกและได้พบเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งทั้ง ๆ ที่เกาะกรีนแลนด์มีหิมะและน้ำแข็งปกคลุมคลอดทั้งปี แต่แอริคต้องการให้ชื่อเกาะดึงดูดนักผจญภัยอื่น ๆ เขาจึงตั้งชื่อเกาะที่พบว่า กรีนแลนด์ (ดินแดนสีเขียว)
ในปี ค.ศ. 985 เลฟ เอริกสัน (Leif Ericson) บุตรของเอริกเดอะเรด ได้รายงานการพบแผ่นดินที่นักประวัติศาสตร์ทุกวันนี้เชื่อว่าเป็นแลบราดอร์ , นิวฟันด์แลนด์ และนิวอิงแลนด์ เพราะเลฟได้บรรยายว่าบนดินแดนใหม่นี้มีป่าไม้ ทุ่งข้าวสาลี และไร่องุ่น แต่ชาวไวกิงตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนใหม่นี้ได้ไม่นานก็ถูกชนพื้นเมืองรุกรานจนต้องอพยพกลับกรีนแลนด์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะพบอเมริกาประมาณ 500 ปี
เรือไวกิงที่แสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงออสโล นอร์เวย์
ด้วยธรรมชาติของการเป็นนักจู่โจมทางเรือโดยทางทะเลซึ่งจะต้องเข้มแข็ง ดุดันและไม่กลัวอันตราย ชาวไวกิงจึงมีกิตติศัพท์หรือได้สมญาว่าเป็นพวกโหดเหี้ยมทารุณและเป็นนักทำลายล้าง แต่ในฐานะของพ่อค้าและนักปกครองอาณานิคม ชาวไวกิงนับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลสูงทางดีในด้านการพัฒนายุโรปยุคกลาง การตั้งถิ่นฐานโพ้นทะเลในยุคแรก ๆ ของชาวไวกิงได้แก่การตั้งเมือง "ออร์กนีย์" และที่หมู่เกาะ "เชตแลนด์" ซึ่งอยู่ในการปกครองของนอร์เวย์ เรื่อยมาและสิ้นสุดเมื่อ ค.ศ. 1472
ช่วงเวลาที่นับเป็นยุคไวกิง อยู่ระหว่าง ค.ศ. 793 - ค.ศ. 1066 ซึ่งสิ้นสุดยุคประมาณระหว่างยุคเชียงแสน และหริภุญชัย หรือก่อนสถาปนาราชวงศ์พระร่วง โดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ค.ศ. 1249 ) 183 ปี
ประวัติ
ยุคไวกิง
ชนเดนส์ เดินเรือเพื่อรุกรานราชอาณาจักรอังกฤษ เอกสารตัวเขียนสีวิจิตร จากคริสต์ศตวรรษที่ 12 เรื่องปกิณกะของชีวิตแห่งนักบุญเอ็ดมันด์ (ห้องสมุดเพียร์พอนต์ มอร์แกน )
จากบันทึก ในช่วงเวลาคริสต์ทศวรรษ 790 จนถึงการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน ในปี ค.ศ. 1066 ถือว่าเป็นยุคไวกิงในประวัติศาสตร์ของสแกนดิเนเวีย[ 1] ชาวไวกิงได้ใช้ทะเลนอร์วีเจียน และทะเลบอลติก เป็นเส้นทางมุ่งสู่ทางใต้และแผ่อิทธิพลลงมาถึงดัชชีนอร์ม็องดี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ก่อนสืบเชื้อสายกลายเป็นชาวนอร์มัน สำหรับผู้สืบเชื้อสายไวกิงที่งมีอิทธิพลในยุโรปเหนือในยุคนั้น ได้แก่ พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน กษัตริย์แองโกล-แซกซันองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรอังกฤษผู้มีบรรพบุรุษเป็นชาวเดนมาร์ก และสองชาวไวกิงที่ขึ้นครองบัลลังก์ราชอาณาจักรอังกฤษ พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด ผู้ครองบัลลังก์ราชอาณาจักรอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1013-1014 และพระราชโอรส พระเจ้าคนุตมหาราช ผู้ครองบัลลังก์ราชอาณาจักรอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1016-1035[ 2] [ 3] [ 4] [ 5] [ 6]
ในเชิงภูมิศาสตร์ ยุคไวกิงไม่เพียงจำกัดอยู่ในดินแดนสแกนดิเนเวีย (ประเทศเดนมาร์ก, ประเทศนอร์เวย์ และประเทศสวีเดน) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงดินแดนเขตปกครองเจอร์แมนิกเหนือ เดนลอว์ สแกนดิเนเวียนยอร์ก ศูนย์กลางการปกครองที่เหลืออยู่ของราชอาณาจักรนอร์ทัมเบรีย [ 7] บางส่วนของราชอาณาจักรเมอร์เซีย และราชอาณาจักรอีสต์แองเกลีย [ 8] นอกจากนี้ ชาวไวกิ้งยังได้เปิดหนทางใหม่สู่ดินแดนตอนเหนือ ตะวันตก และตะวันออกส่งผลให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นอิสระขึ้นในเชทแลนด์ ออร์กนีย์ และ หมู่เกาะแฟโร ในประเทศไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์ [ 9] และแลนโซเมโดส์ มีการตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาสั้น ๆ ในรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ [ 10] ซึ่งอาจเป็นความบังเอิญโดยไม่ตั้งใจของลูกเรือ และนิคมกรีนแลนด์อาจถูกทิ้งร้างเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [ 11] ราชวงค์ชาวไวกิง รูลิค (Rurik) ได้ครองดินแดนสลาฟ และเขตปกครองฟินโน-ยูกริกในยุโรปตะวันออกและผนวกเคียฟ ในปี ค.ศ. 882 ภายใต้จักรวรรดิเคียฟรุส [ 12]
ต้นยุคราวปี ค.ศ. 839 เมื่อทูตชาวสวีเดนได้เข้าไปเจริญสัมพันธไมตรีครั้งแรกในบิแซนเทียม ช่วงนั้นชาวสแกนดิเนเวียเป็นทหารรับจ้างของจักรวรรดิไบแซนไทน์[ 13] ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 หน่วยองครักษ์แห่งจักรวรรดิหน่วยใหม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวสแกนดิเนเวีย รู้จักกันชื่อองครักษ์วารันเจียน คำว่า วารันเจียน (Varangian) อาจมาจากภาษานอร์สโบราณซึ่งหมายถึงคือชาวไวกิงและชาวนอร์ส แต่ในภาษาสลาฟและกรีกอาจหมายถึงชาวสแกนดิเนเวียหรือชาวแฟรงค์ ชาวสแกนดิเนเวียที่มีชื่อเสียงที่สุดในองครักษ์วารันเจียนคือฮาร์รัลด์ ฮาร์ดราด้า ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ (ค.ศ. 1047–66)
มีหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกว่าชาวไวกิงเดินทางถึงแบกแดด เมืองหลวงแห่งจักรวรรดิอับบาซียะฮ์ [ 14] ชาวนอร์สได้ใช้แม่น้ำวอลกา เป็นเส้นทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น ขนสัตว์ เขี้ยว งา ไขมันผนึกเรือ และทาส เป็นประจำ ท่าเรือที่สำคัญในช่วงเวลานี้ได้แก่ เบียงกา (Birka) เฮียดบี (Hedeby) คุยปัง (Kaupang) จอร์วิก (Jorvik) สตาราเฮีย ลาโดกา (Staraya Ladoga) นอฟโกรอด (Novgorod) และ เคียฟ
อาจกล่าวได้ว่า ชาวนอรเวย์ได้แผ่ขยายเข้าไปตั้งถิ่นฐานถึงทางเหนือและตะวันตก เช่น ประเทศไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ ไอซ์แลนด์ และกรีนแลนด์ ชาวเดนมาร์กไปถึงในอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ตั้งถิ่นฐานในเดนลอว์ (ภาคเหนือและภาคตะวันออกของอังกฤษ) และแคว้นนอร์ม็องดี และชาวสวีเดนได้ไปถึงตะวันออก พบว่าแผ่ขยายไปถึงจักรวรรดิเคียฟรุส พบว่ามีอักษรรูนของคณะเดินทางชาวสวีเดนได้กล่าวถึงการบุกและการท่องไปถึงยุโรปตะวันตก ตามตำนานเรื่องเล่าของไอซ์แลนด์ไวกิงชาวนอรเวย์ได้เดินทางไปยุโรปตะวันออกด้วยเช่นกัน ในยุคไวกิง ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์กยังไม่มีตัวตน ชาวไวกิงส่วนใหญ่หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน มีความคล้ายคลึงกันในวัฒนธรรมและภาษาแม้จะมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ชื่อกษัตริย์สแกนดิเนเวียเป็นที่รู้จักเฉพาะหลังยุคไวกิ้งเท่านั้น หลังจากสิ้นสุดยุคไวกิง ดินแดนจึงได้แบ่งเป็นอาณาจักรต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ตามสถานะที่แตกต่างกันไปในฐานะประเทศไปพร้อมกับการเข้ารีตเป็นคริสเตียน ดังนั้นการสิ้นสุดของยุคไวกิงสำหรับชาวสแกนดิเนเวียจึงเป็นจุดเริ่มต้นของยุคกลางของพวกเขา
การขยายอาณาเขตของชาวไวกิง
อ้างอิง
↑ Peter Sawyer, The Viking Expansion , The Cambridge History of Scandinavia, Issue 1 (Knut Helle, ed., 2003), p.105.
↑ Lund, Niels (2001). "The Danish Empire and the End of the Viking Age", The Oxford Illustrated History of the Vikings . Ed. P. H. Sawyer. Oxford University Press, 2001, p. 167–181. ISBN 0-19-285434-8 .
↑ The Royal Household, "Sweyn" เก็บถาวร 2014-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , The official Website of The British Monarchy , 15 March 2015, accessed 15 March 2015
↑ Lawson, M K (2004). "Cnut: England's Viking King 1016-35". The History Press Ltd, 2005, ISBN 978-0582059702 .
↑ The Royal Household, "Canute The Great" เก็บถาวร 2014-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , The official Website of The British Monarchy , 15 March 2015, accessed 15 March 2015
↑ Badsey, S. Nicolle, D, Turnbull, S (1999). "The Timechart of Military History". Worth Press Ltd, 2000, ISBN 1-903025-00-1 .
↑ "History of Northumbria: Viking era 866 AD–1066 AD" www.englandnortheast.co.uk.
↑ Toyne, Stanley Mease. The Scandinavians in history Pg.27. 1970.
↑ The Fate of Greenland's Vikings เก็บถาวร 2012-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , by Dale Mackenzie Brown, Archaeological Institute of America , 28 February 2000
↑ Langmoen IA (4 April 2012). "The Norse discovery of America". Neurosurgery . 57 : 1076–87, discussion 1076–87. PMID 16331154 .
↑ Ross, Valerie (31 May 2011). "Climate change froze Vikings out of Greenland" . Discover . Kalmback Publishing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-04-30. สืบค้นเมื่อ 6 April 2013 .
↑ Rurik Dynasty (medieval Russian rulers) Britannica Online Encyclopedia
↑ Hall, p. 98
↑ "Vikings' Barbaric Bad Rap Beginning to Fade" . News.nationalgeographic.com. 28 October 2010. สืบค้นเมื่อ 21 May 2012 .
แหล่งข้อมูลอื่น