บริเวณที่ตั้งถิ่นฐานของอลามันน์และสมรภูมิของสงครามโรมัน-อลามันน์ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6
ชนอลามันน์ (อังกฤษ : Alamanni ) หรือ ชาวชวาเบิน (อังกฤษ : Swabians ) เดิมเป็นกลุ่มสหพันธ์ของกลุ่มชนเจอร์แมนิก ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำไมน์ ในประเทศเยอรมนี ปัจจุบัน หลักฐานแรกที่กล่าวถึงชนกลุ่มนี้มาจากบันทึกถึงชน "อลามันนิคุส" (ละติน: Alamannicus) ที่สรุปกันว่าเขียนโดยจักรพรรดิคาราคัลลา ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมัน ระหว่างปี ค.ศ. 211 ถึงปี ค.ศ. 217 ที่อ้างว่าเป็นฝ่ายที่ได้รับการพ่ายแพ้ในยุทธการ[ 1] ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างอลามันน์และจักรวรรดิโรมัน เดิมไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่เป็นความสัมพันธ์ในทางรุกราน เมื่ออลามันน์เข้าโจมตีจังหวัดโรมันเจอร์มาเนียเหนือ (Germania Superior) ทุกครั้งที่ได้โอกาส โดยทั่วไปแล้วอลามันน์ก็เอาตัวอย่างของชนแฟรงค์ ในการโจมตีจังหวัดโรมัน ซึ่งมีผลทำให้หยุดยั้งการคืบเข้ามาบริเวณทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำไรน์ ตอนใต และในที่สุดก็เข้าโจมตีจังหวัดโรมันเจอร์มาเนียใต้ (Germania Inferior)
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 แม่น้ำไรน์กลายเป็นเขตแดนระหว่างโรมันกอล และดินแดนเจอร์มาเนีย ชนเจอร์แมนิก, เคลต์ และชนเผ่าผสมเค้ลต์-เจอร์แมนิกตั้งถิ่นฐานอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำไรน์ โรมันแบ่งดินแดนนี้ออกเป็นสองเขต “เจอร์มาเนียเหนือ ” ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำ และ “เจอร์มาเนียใต้ ” ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำไรน์
เจอร์มาเนียเหนือรวมบริเวณระหว่างตอนบนของแม่น้ำไรน์และตอนบนของแม่น้ำดานูบ โรมันเรียกบริเวณนี้ว่า “Agri Decumates” ที่ไม่ทราบที่มาของชื่อ นักวิชาการบางท่านก็แปลว่า “ดินแดนสิบตำบล” (the ten cantons)[ 2] แต่จะเป็นตำบลของผู้ใดก็ไม่เป็นที่ทราบ
บริเวณนอกจักรวรรดิโรมันของเจอร์มาเนียเหนือเรียกว่า “พรมแดนเจอร์แมนิกัส ” (Limes Germanicus) ฝ่ายอลามันน์มักจะข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีเจอร์มาเนียเหนือและคืบต่อไปยังบริเวณ “ดินแดนสิบตำบล” ในบริเวณป่าดำ สหพันธ์กลุ่มอลามันน์เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอัลซาซ ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และขยายตัวต่อไปยังที่ราบสูงสวิส (Swiss Plateau) และบางส่วนของบริเวณบาวาเรีย และออสเตรีย ปัจจุบัน และไปถึงหุบเขาในบริเวณเทือกเขาแอลป์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 8
จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ออกัสตา ” (Historia Augusta) สหพันธ์อลามันน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ยังเรียกตนเองว่า “เจอร์มานิ” (Germani) โพรคิวลัส ผู้พยายามโค่นราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 280 ได้รับชื่อเสียงในกอลจากการได้รับชัยชนะโดยใช้วิธีต่อสู้แบบสงครามกองโจรต่ออลามันน์[ 3] หลังจากนั้นอลามันน์ก็ก่อตัวเป็นชาติอลามานเนีย (Alamannia) ที่บางครั้งก็เป็นอิสระจากแฟรงค์ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ภายใต้การปกครองของแฟรงค์ คำที่เรียกชาวเยอรมันและภาษาเยอรมันในภาษาฝรั่งเศสคือคำว่า “Allemagned” และ “Allemand”, ภาษาโปรตุเกส “Allemagned” และ “Alemão” และ ภาษาสเปน “Alemania” และ “Alemán” ที่ต่างก็มีรากมาจากชื่อที่ใช้เรียกชนเยอรมันสมัยแรก ภาษาเปอร์เชียและอาหรับก็เรียกชนเยอรมันว่า “Almaani” และประเทศเยอรมนีว่า “Almaania” ในภาษาตุรกี “Alman” สำหรับภาษา และ “Almanya” สำหรับประเทศ
อาณาบริเวณของอลามันน์มักจะแผ่ขยายอย่างกว้างไกลที่ทำให้มีชนเผ่าที่มาจากที่มาต่างๆ กัน ในสมัยยุคกลางตอนต้น อลามันน์แบ่งระหว่างอาณาจักรสังฆราชแห่งสตราสบวร์ก ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 614, ดินแดนของอาณาจักรสังฆราชแห่งออกสเบิร์ก ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 736, อาณาจักรสังฆราชแห่งไมนทซ์ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 745 และ อาณาจักรสังฆราชแห่งบาเซิล ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 805 กฎหมายของอลามันน์ได้รับการบัญญัติในรัชสมัยของชาร์เลอมาญ ในฐานะอาณาจักรดยุคแห่งอลามานเนียในชวาเบีย ในปัจจุบันผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากอลามันน์ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน: ฝรั่งเศส (อัลซาซ), เยอรมนี (ชวาเบียและบางส่วนของบาวาเรีย), สวิตเซอร์แลนด์ และ ออสเตรีย ภาษาเยอรมัน ที่ใช้พูดกันในบริเวณนี้ก็มีลักษณะที่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
อ้างอิง
↑ Johann Jacob Hofmann, Lexicon Universale , Leiden 1698, "Alamannicus".
↑ Roman decem , "ten".
↑ "He was, nevertheless, of some benefit to the Gauls, for he crushed the Alamanni — who then were still called Germans — and not without illustrious glory, though he never fought save in brigand-fashion".
ดูเพิ่ม