จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2

จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2[1] (อังกฤษ: The Second Epistle of Peter) เป็นหนังสือเล่มที่ 22 ของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นหนึ่งในเจ็ดจดหมายสากล อันได้แก่ จดหมายของนักบุญยากอบ จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 1 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 2 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 3 และจดหมายของนักบุญยูดา เนื่องจากจดหมายเหล่านี้ถูกส่งถึงคริสต์ศาสนิกชนทั่วไป ไม่ได้ระบุว่าเป็นคริสตจักรใด

เดิมทีหนังสือเล่มนี้เป็นจดหมาย ซึ่งในตอนต้นระบุว่าผู้เขียนคือซีโมนเปโตรอัครทูตของพระเยซู จากข้อความในจดหมายที่ว่าจดหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่สอง[2] และเรียกนักบุญเปาโลว่าน้องที่รักของเรา[3] รวมถึงเนื้อหาอื่น ๆ ในจดหมายแล้ว ก็น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นอัครทูตเปโตรได้เขียนจดหมายนี้เอง จดหมายฉบับนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นราวปีค.ศ. 66 หรือสองปีหลังจากเขียนจดหมายฉบับแรก

แม้ว่าในจดหมายฉบับที่สองนี้ อัครทูตเปโตรจะเรียกผู้รับจดหมายว่า "ท่านทั้งหลายที่ได้ความเชื่อเท่าเทียมกับเรา"[4] ซึ่งต่างไปจากจดหมายฉบับแรกที่เรียกผู้รับจดหมายว่า "พวกที่กระจัดกระจายไป"[5] แต่ผู้รับจดหมายทั้งสองฉบับน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพราะจากข้อความที่ว่า "นี่เป็นจดหมายฉบับที่สองที่ข้าพเจ้าได้เขียนถึงท่านทั้งหลาย"[6] แสดงว่าผู้รับจดหมายฉบับนี้ต้องได้รับฉบับแรกแล้ว

การที่อัครทูตเปโตรใช้คำแตกต่างกันในการเรียกคริสเตียนกลุ่มเดียวกัน น่าจะเป็นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป ในจดหมายฉบับแรก คริสต์ศาสนิกชนกลุ่มนี้กำลังถูกกดขี่ข่มเหงจากการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้ที่ไม่เชื่อ แต่ในจดหมายฉบับที่สอง คริสเตียนกลุ่มนี้กำลังตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากกำลังถูกชักจูงให้หลงผิดจากผู้ที่สอนผิดหรือครูเทียม

ในฐานะผู้เลี้ยงแกะของพระเยซู[7] อัครทูตเปโตรเป็นห่วงคริสต์ศาสนิกชนที่กำลังถูกชักจูงให้หลงผิดเป็นอย่างมาก อัครทูตเปโตรต้องการสอนคริสตจักรว่าจะรับมือกับผู้ที่สอนผิดอย่างไร และต้องการสั่งให้คริสเตียนยึดมั่นทั้งในความเชื่อและหลักปฏิบัติควบคู่ไปด้วยกัน เพราะพระเยซูจะเสด็จกลับมาพิพากษาแน่นอน

อัครทูตเปโตรมีจุดประสงค์สามประการในการเขียนจดหมายฉบับนี้ ประการแรกคือ อัครทูตเปโตรทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้เข้ามาแล้ว ดังที่เขียนในจดหมายว่า "อีกไม่ช้าข้าพเจ้าก็จะต้องสละทิ้งร่างกายของข้าพเจ้าไป"[8]จึงต้องการเตือนให้คริสต์ศาสนิกชนดำเนินชีวิตให้เหมาะสม

ประการที่สองคือ ต้องการให้ระวังครูเทียมซึ่งสอนผิด ๆ อัครทูตเปโตรกล่าวถึงลักษณะของเหล่าครูเทียมไว้ว่า เป็นคนที่หลงระเริงไปตามกิเลสตัณหา[9] ใจของเขาชินกับการโลภ[10] พูดโอ้อวดตัว ปรารถนาชั่วทางกาย[11] เป็นต้น

ประการสุดท้ายคือ ย้ำกับคริสต์ศาสนิกชนว่า พระเยซูจะเสด็จกลับมาพิพากษาแน่นอน เพราะมีหลายคนคิดไปว่า เวลาผ่านไปนานแล้ว ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งต่าง ๆ ก็เป็นเหมือนเดิมตั้งแต่แรก[12] อัครทูตเปโตรชี้แจงให้เข้าใจว่า เหตุการณ์นั้นจะต้องเกิดขึ้น แต่สาเหตุที่เวลาผ่านไปนานแล้วยังไม่เกิดขึ้น เพราะพระเจ้าอดทนรอเพื่อให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่[13] อัครทูตเปโตรยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่พระเยซูเสด็จมาพิพากษาไว้ด้วยว่า ชาวโลกจะพินาศไปเพราะน้ำท่วม[14] "ท้องฟ้าจะล่วงเสียไปด้วยเสียงที่ดังกึกก้อง และโลกธาตุจะสลายไปด้วยไฟ และแผ่นดินโลกกับสิ่งสารพัดที่มีอยู่ในโลกนั้น จะต้องไหม้เสียสิ้น[15]

โครงร่าง

1. การดำเนินชีวิตคริสต์ศาสนิกชน 1:1 - 21

2. ลักษณะของความไม่ชอบธรรม 2:1 - 22

3. การเสด็จกลับมาอย่างแน่นอนของพระเยซู 3:1 - 18


อ้างอิง

  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
  1. "จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 2012-08-29.
  2. 2 เปโตร 3:1
  3. 2 เปโตร 3:15
  4. 2 เปโตร 1:1
  5. 1 เปโตร 1:1
  6. 2 เปโตร 3:1
  7. ยอห์น 21:15
  8. 2 เปโตร 1:14
  9. 2 เปโตร 2:10
  10. 2 เปโตร 2:14
  11. 2 เปโตร 2:18
  12. 2 เปโตร 3:4
  13. 2 เปโตร 3:9
  14. 2 เปโตร 3:7
  15. 2 เปโตร 3:10

ดูเพิ่ม

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!