ความชอบธรรม (รัฐศาสตร์)

ในรัฐศาสตร์ ความชอบธรรม (อังกฤษ: legitimacy) คือ การที่อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายซึ่งใช้บังคับ หรือระบอบการปกครองนั้น ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน

ในรัฐประศาสนศาสตร์ ความชอบธรรม (อังกฤษ: legitimacy) ต้องมี 6 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1.ยึดหลักนิติธรรม 2.ยึดแนวทางนิติรัฐ 3.มีคุณธรรม 4.มีจริยธรรม 5.มีศีลธรรม และ 6.มีธรรมาภิบาล ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง ถือว่าขาดความชอบธรรม[1]

ความชอบธรรมทางการเมืองถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการปกครอง ถ้าไร้ซึ่งความชอบธรรมแล้ว รัฐบาลจะ "เข้าตาจนในการบัญญัติกฎหมาย" (legislative deadlock) และอาจล่มสลายได้ในที่สุด แต่ในระบบการเมืองซึ่งมิได้ให้ความสำคัญแก่ความชอบธรรมนั้น ระบอบการปกครองที่มิใช่ของประชาชนสามารถดำรงอยู่ได้เพราะได้รับการอุ้มชูจากอภิชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีอิทธิพลมาก[2] ในปรัชญารัฐศาสตร์จีน นับแต่สมัยราชวงศ์โจวเป็นต้นมา รัฐบาลและผู้ปกครองจะมีความชอบธรรมต่อเมื่อได้รับอาณัติแห่งสวรรค์ (Mandate of Heaven) เมื่อใดที่ผู้ปกครองขาดอาณัติแห่งสวรรค์ เมื่อนั้นก็จะขาดความชอบธรรมและสิทธิที่จะปกบ้านครองเมือง

ในจริยปรัชญา คำว่า "ความชอบธรรม" มักได้รับการตีความอย่างเด็ดขาดว่า เป็นบรรทัดฐานที่ผู้อยู่ใต้ปกครองได้ประทานให้แก่ผู้ปกครองและการกระทำต่าง ๆ ของผู้ปกครอง โดยเชื่อว่า คณะผู้ปกครองที่ได้รับการจัดตั้งตามกฎหมายจะกระทำการทั้งหลายด้วยอำนาจที่ใช้อย่างเหมาะสม

ส่วนในนิติศาสตร์นั้น "ความชอบธรรม" (legitimacy) ต่างจาก "ความชอบด้วยกฎหมาย" (legality) เพราะการกระทำของผู้ปกครองอาจชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ชอบธรรมก็ได้ เช่น มติอ่าวตังเกี๋ยที่ให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเปิดสงครามต่อเวียดนามได้โดยไม่ต้องประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ตรงกันข้าม การกระทำของผู้ปกครองอาจชอบธรรม แต่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ได้ เช่น กรณีรัฐบาลทหารชิลีเมื่อ ค.ศ. 1973 ตัวอย่างของเรื่องราวเหล่านี้ยังเห็นได้ในคราววิกฤติรัฐธรรมนูญ

ในยุคเรืองปัญญา จอห์น ล็อก (John Locke) นักทฤษฎีสังคมชาวอังกฤษ เสนอว่า ความชอบธรรมทางการเมืองย่อมมาจากการที่ประชาชนยินยอมให้ปกครองไม่ว่าโดยแจ้งชัดหรือโดยปริยาย เขาว่า "ขอโต้แย้งศาสตรนิพนธ์ [ฉบับที่สอง] ว่า รัฐบาลย่อมขาดความชอบธรรม เว้นแต่จะดำเนินการเมื่อได้รับความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง"[3] ขณะที่ดอล์ฟ สเติร์นเบอร์เกอร์ (Dolf Sternberger) ปรัชญาเมธีรัฐศาสตร์เยอรมัน ว่า "ความชอบธรรมเป็นรากฐานของอำนาจในการปกครองที่พึงใช้เมื่อฝ่ายผู้ปกครองตระหนักว่า ตนมีสิทธิจะปกครอง และเมื่อผู้ใต้ปกครองยอมรับสิทธินั้นพอสมควร"[4] ส่วนซีมอร์ มาติน ลิปเซ็ต (Seymour Martin Lipset) ว่า ความชอบธรรมยัง "ประกอบด้วย การที่ระบบการเมืองสามารถสร้างและรักษาความเชื่อที่ว่า สถาบันทางการเมืองที่มีอยู่นั้นเป็นสถาบันที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุดสำหรับสังคมแล้ว" ด้วย[5] และรอเบิร์ต เอ. ดาห์ล (Robert A. Dahl) ปรัชญาเมธีรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน อธิบายว่า "ความชอบธรรมนั้นเป็นดังฝาย ตราบที่สายชลปริ่มอย่างได้ระดับ เสถียรภาพทางเมืองก็ดำรงอยู่ แต่หากน้ำต่ำกว่าระดับที่พึงมี ความชอบธรรมทางการเมืองก็นับว่าล่อแหลม"[6]

อ้างอิง

  1. Dahl, Chattawat Shatnataphat.legitimacy and Organization Change (pp.12).Doctor of Philosophy Public Administration: Western University Press,2018
  2. Dahl, Robert A. Polyarchy: Participation and Opposition (pp. 124–188). New Haven (Connecticut) and London: Yale University Press, 1971
  3. Ashcraft, Richard (ed.): John Locke: Critical Assessments (p. 524). London: Routledge, 1991
  4. Sternberger, Dolf: "Legitimacy" in International Encyclopedia of the Social Sciences (ed. D.L. Sills) Vol. 9 (p. 244). New York: Macmillan, 1968
  5. Lipset, Seymour Martin: Political Man: The Social Bases of Politics (2nd ed.) (p. 64). London: Heinemann, 1983
  6. Dahl, Robert A. Polyarchy: Participation and Opposition (pp. 124–188). New Haven (Connecticut) and London: Yale University Press, 1971

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!