คราวซึมเศร้า [ 1]
หรือ คราวแสดงอาการซึมเศร้า
หรือ ภาวะซึมเศร้า
(อังกฤษ : major depressive episode )
เป็นช่วงเวลาที่มีอาการของโรคซึมเศร้า (major depressive disorder ตัวย่อ MDD) โดยหลักก็คือมีอารมณ์ เศร้าเป็นเวลา 2 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น
และการสูญเสียความสนใจหรือความสุข ในชีวิตประจำวัน
ประกอบด้วยอาการอื่น ๆ เช่น ความรู้สึกว่าไร้ความหมาย ไม่มีหวัง วิตกกังวล ตนไม่มีค่า ความรู้สึกผิดและ/หรือความฉุนเฉียวง่าย ความเปลี่ยนแปลงต่อความอยากอาหาร ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจำรายละเอียดหรือตัดสินใจได้ และความคิดเกี่ยวกับหรือความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
อาการนอนไม่หลับ หรือการนอนมากเกินไป (hypersomnia) ความเจ็บปวด หรือปัญหาย่อยอาหารที่แก้ไม่ได้ ก็อาจจะมีด้วย
นี้เป็นคำอธิบายดังที่ใช้ในเกณฑ์วินิจฉัยทางจิตเวช ดังที่พบในคู่มือ DSM-5 และ ICD-10 [ 2]
ความซึมเศร้าก่อทั้งปัญหาทางอารมณ์และปัญหาทางเศรษฐกิจ
ในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ค่าเสียหายที่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าเทียบได้กับที่เกิดจากโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และปัญหาเกี่ยวกับเจ็บหลัง และเสียหายมากกว่าโรคความดันโลหิตสูง [ 3]
ตามงานวิจัยหนึ่ง คราวซึมเศร้ามีสหสัมพันธ์ โดยตรงกับความว่างงาน[ 4]
การรักษารวมทั้งการออกกำลังกาย จิตบำบัด และยาแก้ซึมเศร้า แม้ว่าในกรณีที่รุนแรง การเข้าโรงพยาบาลอาจจำเป็น[ 5]
มีทฤษฎี มากมายว่าความซึมเศร้าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทฤษฎีหนึ่งก็คือว่า สารสื่อประสาท ในสมองไม่สมดุล ก่อความรู้สึกว่าตนไม่มีค่าและสิ้นหวัง
การสร้างภาพในสมองด้วย MRI แสดงว่า สมองของผู้ซึมเศร้าต่างจากของคนที่ไม่มีอาการ[ 6]
การมีประวัติของโรคในครอบครัวเพิ่มความเสี่ยง[ 7]
อาการ
หญิงที่มีความซึมเศร้าและความวิตกกังวล
เกณฑ์วินิจฉัยต่อไปนี้มากจาก DSM-IV สำหรับคราวซึมเศร้า (major depressive episode)
การวินิจฉัยว่าเป็นคราวซึมเศร้า บังคับว่าคนไข้ต้องประสบอาการ อย่างน้อย 5 อย่างที่จะกล่าวต่อไปเป็นระยะเวลา 2 อาทิตย์ ซึ่งเป็นอาการนอกเหนือไปจากพฤติกรรมปกติของคนไข้
ความเศร้า (depressed mood) หรือความสนใจ/ความสุขเพลิดเพลินที่ลดลง ต้องเป็นอาการ 1 ใน 5 (แม้ว่าทั้งสองบ่อยครั้งจะเกิดด้วยกัน)
อารมณ์ ความไม่เป็นสุข และความไม่สนใจ
คนที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าอาจรายงานอารมณ์เศร้า (depressed mood) หรืออาจปรากฏว่าซึมต่อคนอื่น[ 8]
บ่อยครั้ง ความสนใจและความสุขเพลิดเพลินในกิจกรรมชีวิตประจำวันจะลดลง ซึ่งเรียกว่าภาวะสิ้นยินดี (anhedonia) ความรู้สึกเช่นนี้ต้องมีทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์หรือนานกว่านั้นที่จะผ่านเกณฑ์ของ DSM-IV ว่ามีภาวะซึมเศร้า[ 8]
นอกจากนั้นแล้ว บุคคลอาจจะประสบกับอารมณ์ ดังต่อไปนี้ คือ ความเศร้าโศก ความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ความหมดหวัง ความรู้สึกผิด ความไม่แยแส ความวิตกกังวล การร้องไห้ การมองในแง่ร้าย หรือความฉุนเฉียวง่าย[ 2]
เด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะอาจจะฉุนเฉียวง่าย[ 2]
อาจจะเสียความสนใจหรือความต้องการในเพศสัมพันธ์
เพื่อน ๆ และครอบครัวของคนไข้อาจสังเกตว่าเขาออกห่างจากเพื่อน หรือว่าละเลยหรือเลิกทำกิจกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งที่ชอบ[ 9]
คนซึมเศร้าอาจมีความรู้สึกผิดเกินปกติ จนกระทั่งถึงกับหลงผิด[ 8]
อาจจะคิดถึงตัวเองในเชิงลบที่ไม่สมกับความจริง เช่นหมกมุ่นกับความล้มเหลวในอดีต การยึดมั่นกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเชื่อว่าความผิดพลาดเล็กน้อยเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตนเป็นคนล้มเหลว
และอาจจะรู้สึกต้องรับผิดชอบอย่างไม่สมจริง และเห็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ว่าเป็นความผิดของตน
นอกจากนั้นแล้ว การรังเกียจตัวเอง (self-loathing) ก็ยังเป็นอาการสามัญอีกด้วย ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อเกิดขึ้นรวมกับอาการอื่น ๆ[ 9]
ความเปลี่ยนแปลงในการรับประทาน ความอยากอาหาร หรือน้ำหนัก
คนที่มีภาวะซึมเศร้าอาจมีน้ำหนักลดหรือขึ้นอย่างสำคัญ (เช่น 5% ของน้ำหนักปกติของตนภายในเดือนหนึ่ง) หรือความอยากอาหารอาจจะเปลี่ยนไป[ 8]
ซึ่งเป็นได้ทั้งสองอย่าง คือ น้อยหรือมากเกินไป
ในกรณีแรก บางคนอาจจะไม่รู้สึกหิวเลย คืออยู่ได้โดยไม่ต้องทาน หรืออาจจะลืม และถ้าทาน อาหารเพียงแค่เล็กน้อยก็พอแล้ว ในเด็ก การไม่เพิ่มน้ำหนักตามเกณฑ์อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในกรณีนี้[ 2]
การทานน้อยเกินไปบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าแบบ melancholic
ในกรณีหลัง บางคนอาจอยากอาหารมากขึ้นและน้ำหนักอาจจะขึ้นอย่างสำคัญ
และอาจจะต้องการทานอาหารบางประเภท เช่น ของหวานหรือแป้ง
บุคคลที่ซึมเศร้าแบบ seasonal affective disorder (ตัวย่อ SAD คือความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นไปตามฤดู) อาจจะอยากอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต สูง
การทานอาหารเกินบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าที่เรียกว่า atypical depression[ 9]
การนอนหลับ
ทุก ๆ วัน คนซึมเศร้าอาจจะนอนมากเกินไป ซึ่งเรียกว่า hypersomnia หรือนอนน้อยเกินไป ซึ่งเรียกว่า insomnia (การนอนไม่หลับ )[ 8]
การนอนไม่หลับเป็นปัญหาการนอนที่สามัญที่สุดสำหรับคนซึมเศร้าและบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าแบบ melancholic
อาการนอนไม่หลับรวมทั้งปัญหาในการหลับ ปัญหาตื่นง่าย และ/หรือตื่นเช้าเกินไป
ส่วนการนอนมากเกินไปสามัญน้อยกว่า
ซึ่งอาจจะเป็นการนอนยาวตอนกลางคืน หรือนอนมากขึ้นตอนกลางวัน
การนอนอาจจะไม่ทำให้รู้สึกว่าได้พักผ่อน คือบุคคลอาจจะรู้สึกเพลียแม้ว่าจะได้นอนหลายชั่วโมง
ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมชีวิตประจำวันและสมาธิในที่ทำงานหรือที่บ้าน
ตามห้องสมุดการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (United States National Library of Medicine) คนซึมเศร้าแบบ SAD อาจจะนอนนานกว่าในช่วงหน้าหนาว
การนอนมากเกินไปบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้าแบบ atypical depression[ 9]
และไม่สามัญเท่ากับนอนไม่หลับ และคนไข้ประมาณ 40% จะนอนมากเกินไปเป็นบางครั้งบางคราว[ 10]
การเคลื่อนไหว/กิจกรรม
เกือบทุกวัน บุคคลอื่นจะเห็นว่ากิจกรรมของบุคคลนั้นอยู่ในระดับไม่ปกติ[ 8]
คือ อาจจะกระวนกระวาย (เรียกว่า psychomotor agitation) หรือว่า เฉื่อยชาเกินไป (เรียกว่า psychomotor retardation)
ถ้ากระวนกระวาย คนไข้อาจจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องเดินไปเดินมา บีบรัดมือ หรือเล่นกับเสื้อผ้ากับวัตถุอื่น ๆ
ถ้าเฉื่อยชา คนไข้มักจะเคลื่อนไหวช้าลง อาจจะเดินในห้องช้า ๆ ไม่มองใคร นั่งซบเซาบนเก้าอี้และพูดช้า ๆ ถ้าพูดอะไรเลย
คนไข้อาจจะกล่าวว่าแขนขาหนัก
เพื่อที่จะผ่านเกณฑ์วินิจฉัย การเคลื่อนไหวต้องเปลี่ยนไปอย่างผิดปกติจนผู้อื่นเห็นได้[ 9]
ถ้าคนไข้กล่าวเองว่า รู้สึกอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ หรือรู้สึกเชื่องช้า ยังไม่นับเข้ากับเกณฑ์นี้[ 2]
ความล้าและสมาธิ
เกือบทุกวัน บุคคลจะประสบความรู้สึกล้ามาก เหนื่อยมาก หรือหมดแรง[ 2] [ 8]
อาจจะรู้สึกเหนื่อยโดยที่ไม่ได้ทำอะไร จนกิจกรรมประจำวันกลายเป็นเรื่องยาก
งานอาชีพและที่บ้านจะทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก และก็จะเริ่มมีปัญหากับงาน[ 9]
คนไข้อาจจะตัดสินใจอะไรไม่ได้ หรือมีปัญหาในการคิดหรือในเรื่องสมาธิ[ 8]
ปัญหากับความจำและความวอกแวกเป็นเรื่องสามัญ
อาการเหล่านี้จะเป็นปัญหามากขึ้นในกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เช่น การเรียนหนังสือหรืองาน โดยเฉพาะในเรื่อง/สาขาวิชาที่ยาก[ 9]
ความคิดเกี่ยวกับความตายและการฆ่าตัวตาย
บุคคลอาจจะคิดซ้ำ ๆ เรื่องความตาย (นอกเหนือจากกลัวตาย) หรือการฆ่าตัวตาย (ไม่ว่าจะมีแผนหรือไม่) หรืออาจพยายามฆ่าตัวตาย[ 8]
ความถี่และความหมกมุ่นในความคิดเกี่ยวกับความตายอาจจะเริ่มตั้งแต่การเชื่อว่า
เพื่อน ๆ และครอบครัวจะดีกว่าถ้าตนตาย, การคิดบ่อย ๆ ถึงการฆ่าตัวตาย (ทั่วไปโดยหวังจะยุติความเจ็บปวดทางใจ), จนกระทั่งถึงการวางแผนอย่างละเอียดว่าจะทำอย่างไร
คนที่อยากฆ่าตัวตายมากอาจมีแผนโดยเฉพาะและได้ตัดสินใจถึงวันและสถานที่ที่จะฆ่าตัวตายแล้ว[ 9]
การวินิจฉัย
ในประเทศตะวันตก ผู้ให้บริการทางสุขภาพอาจจะตรวจคัดโรคซึมเศร้าโดยใช้คำถาม เช่นชุดคำถาม Patient Healthcare Questionnaire-2 (PHQ-2)[ 11]
เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะซึมเศร้า ผู้รักษาพยาบาลควรจะแน่ใจว่า
อาการไม่ผ่านเกณฑ์แบบผสม (Mixed state) ซึ่งมีทั้งความฟุ้งพล่าน (mania) และความซึมเศร้า เช่น ความกระวนกระวาย ความวิตกกังวล ความอ่อนเพลีย ความรู้สึกผิด การทำอะไรแบบไม่คิด ความฉุนเฉียวง่าย ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย อาการตื่นตระหนก การพูดอย่างรีบเร่ง ที่เกิดสลับกันเป็นเวลาสั้น ๆ[ 2]
อาการก่อความทุกข์หรือปัญหาอย่างพอสมควร ในการทำงาน ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือในด้านอื่น ๆ ของชีวิต เพื่อที่จะผ่านเกณฑ์ว่าเป็นคราวแสดงออก[ 2]
อาการไม่ใช่เป็นผลทางสรีรภาพโดยตรงของสาร (เช่นยาเสพติดหรือยา) หรืออาการทางแพทย์อื่น ๆ (เช่น โรคไทรอยด์ )[ 2]
นอกจากกรณีที่มีอาการรุนแรง (คือ ไม่สามารถทำกิจในชีวิตประจำวัน การหมกมุ่นอย่างรุนแรงว่าตนไม่มีค่า ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย อาการหลงผิดหรือประสาทหลอน หรือการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า) คราวแสดงออกไม่ควรจะเริ่มภายในสองเดือนที่เสียคนรักไป[ 12]
การรักษาบำบัด
ความซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยที่รักษาได้
ในประเทศตะวันตก การรักษาภาวะซึมเศร้าสามารถได้จากสถานที่ดังต่อไปนี้ คือ ผู้ชำนาญการเกี่ยวกับสุขภาพจิต (เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำปรึกษา เป็นต้น) ศูนย์หรือองค์กรสุขภาพจิต โรงพยาบาล คลินิกผู้ป่วยนอก องค์กรบริการสังคม คลินิกเอกชน กลุ่มผู้ป่วยที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ผู้ทำการเกี่ยวกับศาสนา และโปรแกรมช่วยเหลือลูกจ้างของบริษัท[ 13]
การรักษาอาจจะทำด้วยจิตบำบัดอย่างเดียว ยาแก้ซึมเศร้า อย่างเดียว หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
สำหรับภาวะซึมเศร้ารุนแรง (คือมีอาการหลายอย่าง มีความไวปฏิกิริยาต่ออารมณ์บวกน้อย มีปัญหาทางชีวิตหลายอย่าง) การรักษาด้วยวิธีทั้งสองรวมกันมีผลดีกว่าจิตบำบัดอย่างเดียว[ 2]
คนไข้ที่มีอาการรุนแรงอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลหรือได้การรักษาจากโรงพยาบาล[ 5]
จิตบำบัด ซึ่งบางครั้งรู้จักเป็นคำภาษาอังกฤษ อื่น ๆ ว่า talk therapy (การบำบัดโดยการคุยกัน) counseling (การให้คำปรึกษา) หรือ psychosocial therapy (การบำบัดทางจิต-สังคม) เป็นการให้คนไข้พูดถึงอาการและปัญหาสุขภาพจิตของตนกับผู้บำบัดที่ได้ฝึกมาแล้ว
มีจิตบำบัดหลายอย่างที่ได้ผลในการรักษา
รวมทั้งการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy), interpersonal therapy , dialectical behavior therapy , acceptance and commitment therapy , และเทคนิครักษาที่อาศัยสติ [ 5]
ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้ารวมทั้ง selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) เช่นฟลูอ๊อกซิติน , serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI), norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI), tricyclic antidepressant, monoamine oxidase inhibitor (MAOI) และ atypical antidepressants เช่น mirtazapine ซึ่งไม่สามารถรวมเข้าในประเภทอื่น[ 5]
ยาแก้ซึมเศร้าได้ผลต่าง ๆ กันสำหรับบุคคลต่าง ๆ
บ่อยครั้งจำเป็นต้องลองยาหลายอย่างก่อนที่จะเจอขนานที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้คนหนึ่ง ๆ
บางคนอาจจะต้องใช้หลายขนานรวมกัน ซึ่งอาจจะหมายถึงยาแก้ซึมเศร้าสองอย่าง บวกกับยารักษาโรคจิต (antipsychotic)[ 14]
ถ้ามีญาติใกล้ชิดของคนไข้ที่ใช้ยาแบบหนึ่งดี ยาขนานนั้นก็น่าจะดีต่อคนไข้ด้วย[ 5]
บางครั้ง คนอาจจะเลิกทานยาแก้ซึมเศร้าเพราะผลข้างเคียง แม้ว่า ผลข้างเคียงบ่อยครั้งจะรุนแรงน้อยลงต่อ ๆ มา[ 14]
การเลิกทานยาแบบฉับพลัน หรือไม่ได้ทานยาหลายครั้ง อาจจะทำให้เกิดอาการขาดยา[ 5]
งานศึกษาบางงานพบว่า ยาแก้ซึมเศร้าอาจเพิ่มความคิดหรือการกระทำเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยต้น ๆ แต่ว่า ยาแก้ซึมเศร้ามีโอกาสสูงกว่าที่จะลดระดับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระยะยาว[ 5]
ถ้าไม่รักษา ภาวะซึมเศร้าปกติอาจยาวถึง 6 เดือน
และประมาณ 20% อาจยาวถึง 2 ปีหรือมากกว่านั้น
ประมาณครึ่งหนึ่งหายเอง (Spontaneous remission)
แต่ว่า แม้ว่าหลังจากภาวะจะยุติลง 20%-30% ก็จะยังมีอาการเหลือ ซึ่งอาจจะก่อความทุกข์และความพิการ [ 3]
ข้อมูลประชากร
จำนวนประมาณของคนที่มีภาวะซึมเศร้า (major depressive episode) และโรคซึมเศร้า (MDD) ต่าง ๆ กันอย่างสำคัญ
ในช่วงชีวิต 10%-25% ของหญิง และ 5%-12% ของชายจะเกิดภาวะซึมเศร้า (major depressive episode)
แต่จะมีคนน้อยกว่า คือ 5%-9% ของหญิง และ 2%-3% ของชายจะมีโรคซึมเศร้า (major depressive disorder)
ความแตกต่างทางจำนวนระหว่างหญิงชายพบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และยุโรป [ 2]
วัยที่เกิดภาวะซึมเศร้ามากที่สุดก็คือช่วงอายุระหว่าง 25-44 ปี
การเริ่มต้นของภาวะหรือโรคซึมเศร้าบ่อยครั้งเกิดขึ้นกับคนช่วงกลาง ๆ วัย 20-30 ปี และน้อยครั้งกว่าหลังจากถึงอายุ 65 ปี
เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ ทั้งหญิงชายสามารถเกิดภาวะนี้ได้เท่า ๆ กัน
อาการซึมเศร้าเหมือนกันทั้งในเด็กและวัยรุ่น แม้จะมีหลักฐานว่าการแสดงออกของภาวะในบุคคลเดียวกันจะเปลี่ยนไปเมื่อเจริญวัยขึ้น[ 2]
องค์กรวิจัยทางสุขภาพจิตประจำชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Mental Health) มีงานศึกษาที่พบว่า บุคคลที่มีความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) จะมีภาวะซึมเศร้าภายใน 4 เดือนหลังจากเหตุการณ์ที่ประสบ[ 15]
ปัจจัยทางวัฒนธรรม มีอิทธิพลต่ออาการที่ปรากฏ
ค่านิยมของวัฒนธรรมอาจจะมีอิทธิพลว่า บุคคล เพื่อน หรือครอบครัว จะกังวลเกี่ยวกับอาการใดของผู้ป่วยมากที่สุด
เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ทำการบำบัดจะรู้ว่า ไม่ควรละเลยอาการอะไรบางอย่างเพราะเป็นเรื่อง "ปกติ" ของวัฒนธรรมนั้น ๆ[ 2]
แต่ว่า ปัจจัยทางสังคม-เศรษฐกิจและทางสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะไม่มีผลอะไรต่อการเกิดขึ้นของภาวะหรือโรคซึมเศร้า[ 3]
หญิงที่พึ่งคลอดบุตรอาจจะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า
ซึ่งเรียกว่า postpartum depression (ความซึมเศร้าหลังคลอด) ซึ่งต่างจากอาการที่เรียกว่า maternity blues อันเป็นความเศร้าที่หายเองภายใน 10 วันหลังจากคลอด[ 16]
ความผิดปกติที่เกิดร่วมกัน
ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกับปัญหาทางกายหรือทางใจอื่น ๆ (comorbidity) คนไข้ที่มีโรคเรื้อรังอย่างอื่นประมาณ 20-25% จะเกิดภาวะซึมเศร้า[ 3]
โรคที่เกิดร่วมกันอย่างสามัญรวมทั้ง ความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorder) ความผิดปกติที่เกิดจากสาร (substance-related disorders) โรคตื่นตระหนก และโรคย้ำคิดย้ำทำ บุคคลที่เกิดภาวะซึมเศร้าประมาณ 25% มีอาการของโรค Dysthymia (เป็นความปั่นป่วนทางอารมณ์ที่เรื้อรังแต่รุนแรงน้อยกว่าที่คนไข้แจ้งว่ามีอารมณ์เศร้าเกือบทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี) อยู่แล้ว[ 3]
บุคคลที่มีโรคถึงตายหรืออยู่ในระยะสุดท้ายในชีวิตอาจจะประสบความซึมเศร้า แต่นี่ไม่ได้เกิดกับทุกคน[ 16]
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถและอ้างอิง
↑ "episode (แพทยศาสตร์)", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕ , คราว (การสำแดง)
↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 American Psychiatric Association (1994). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (4th ed.).
↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Medscape (ต้องรับบริการ)
↑ Hämäläinen, Juha (2005). "Major depressive episode related to long unemployment and frequent alcohol intoxication" . Nordic Journal of Psychiatry . สืบค้นเมื่อ 2015-02-14 .
↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 "Depression (major depression)" . Mayo Clinic . สืบค้นเมื่อ 2015-02-13 .
↑ Katon, W (2002). "Impact of major depression on chronic medical illness" . Journal of Psychosomatic Research . 53 : 859–863. doi :10.1016/s0022-3999(02)00313-6 .
↑ Tsuang, M (2004). "Gene-environment interactions in mental disorders". World Psychiatry . 3 (2): 72–83.
↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 8.8 "Criteria for Major Depressive Episode" . Winthrop University . faculty.winthrop.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2005-11-23. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20 .
↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 "All About Depression: Diagnosis" . All About Depression.com . www.allaboutdepression.com. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-13. สืบค้นเมื่อ 2015-02-13 .
↑ Shalev, A (1998). "Prospective study of posttraumatic stress disorder and depression following trauma". American Journal of Psychiatry . 155 (5): 630–637. doi :10.1176/ajp.155.5.630 .
↑ Maurer, DM (2012). "Screening for depression" . Am Fam Physician . PMID 22335214 . สืบค้นเมื่อ 2015-05-09 .
↑ "Mood" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2009-10-25. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20 .
↑ Cassano, P (2002). "Depression and public health, an overview". Journal of Psychosomatic Research . 53 : 849–857. doi :10.1016/s0022-3999(02)00304-5 .
↑ 14.0 14.1 "Depression Medicines" . WebMD . สืบค้นเมื่อ 2015-02-13 .
↑ Shalev, A. "Prospective study of posttraumatic stress disorder and depression following trauma". American Journal of Psychiatry. ;
↑ 16.0 16.1 Hirst, KP; และคณะ (2010). "Postpartum major depression" . Am Fam Physician . PMID 20949886 . สืบค้นเมื่อ 2015-05-09 .
แหล่งข้อมูลอื่น