ทาสในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถูกยกเลิกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านการปฏิรูปมาหลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 ถึง 2448 ทุกวันนี้ การค้าทาสสมัยใหม่กลายเป็นประเด็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทย
ประวัติศาสตร์ทาสในประเทศไทย
ทาสเป็นคำปกติสำหรับสถานะส่วนบุคคลตามกฎหมายในอดีต พวกเขาจัดอยู่ในลำดับชั้นต่ำที่สุดในระบบลำดับชั้นทางสังคมที่เรียกว่า ศักดินา ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และผูกพันกับเจ้านายซึ่งตามกฎหมาย "มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือทาสของตน นอกจากโทษประหารชีวิต"[ 1] ผู้คนสามารถเป็นทาสได้หลายวิธี ทั้งถูกจับไปเป็นเชลยศึก เป็นหนี้ และเกิดมาจากพ่อแม่ที่เป็นทาส การจ้างทาสของเจ้านายมีหลากหลาย ดังบันทึกของซีมง เดอ ลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปี 2230 ที่ระบุว่า[ 1]
พวกเขาจ้างทาสในการเพาะปลูกในที่ดินและสวนของพวกเขาและงานรับใช้ในบ้าน เพื่อแลกกับเงินค่าตัวที่ได้รับปีละ 4 ถึง 8 บาท
หุ่นขี้ผึ้งเกี่ยวกับการเลิกทาส จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
การเลิกทาส
ราคาทาส (พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124)
อายุทาส (ปี)
ชาย
หญิง
แรกเกิด
5 บาท
4 บาท
7–8
8 ตำลึง
7 ตำลึง
≈100
4 บาท
3 บาท
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ประมาณว่าไทยมีทาส เป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ[ 2] เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อ ๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก
เมื่อถึง พ.ศ. 2448 ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก 124 " ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป[ 3] นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว
การเลิกไพร่
หมอสมิธ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไซแอมรีโพซิตอรี เขียนบทความตำหนิรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง ด้วยเห็นว่า "ในบรรดาประเทศเจริญทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินก็ดี พวกขุนนางก็ดี ไม่มีสิทธิ์เกณฑ์แรงราษฎรผู้เสียภาษีอากรโดยไม่ให้อะไรตอบแทน"[ 4] เพราะไพร่รับราชการโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ซ้ำยังต้องออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างในระหว่างการรับราชการนั้นเองอีกด้วยต่างหาก เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น[ 4] นอกจากนี้ยังมีพวก "คนไทยหนุ่ม" ที่อยากให้เลิกขนบไพร่ บางส่วนแสดงความคัดค้านที่รัฐบาลสักเลกในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เพราะทำให้การทำนาได้รับความเสียหาย[ 5]
ขนบไพร่นี้บังคับให้ราษฎรอายุตั้งแต่ 15-16 ปี จนถึง 70 ปี ต้องทำงานรับใช้หรือส่งส่วยให้แก่ชนชั้นปกครอง แบ่งออกเป็นไพร่หลวง ไพร่สมและไพร่ส่วย ไพร่มีกำหนดรับราชการเดือนเว้นเดือน ในสมัยอยุธยา ปีละ 6 เดือน ลดลงมาเหลือปีละ 4 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 1 และเหลือ 3 เดือนในรัชกาลที่ 2[ 6] หากไม่อยากรับราชการก็ต้องจ่าย "ค่าราชการ" เดือนละ 6 บาท[ 7]
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบทูลเสนอความคิดเห็นว่า ควรให้ราษฎรเสียค่าราชการปีละ 6 บาทโดยเท่ากัน และให้งดการเกณฑ์แรงชั่วคราว ใช้วิธีเกณฑ์จ้างแทน[ 4]
ลำดับเหตุการณ์การเลิกไพร่[ 8]
ปี (พ.ศ.)
เหตุการณ์
2420
ทรงจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการและเจ้านายแทนพระราชทานไพร่
2420
ทรงออกประกาศพระบรมราชโองการให้ไพร่สมรับราชการเช่นเดียวกับไพร่หลวง หรือต้องเสียเงินค่าราชการปีละ 6 บาทแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน
ทรงปรับปรุงให้การแจ้งไพร่สมตาย ชรา พิการ เป็นไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น
2439
ทรงปรับปรุงค่าราชการ โดยให้ข้าราชการชั้นขุนหมื่นเสียค่าราชการปีละเท่ากับไพร่หลวงและไพร่สม
2442
ทรงออก "ประกาศกำหนดอายุบุคคลที่เปนฉกรรจ์ แลปลดชะรา รัตนโกสินทร์ศก 118" มีเนื้อหาสำคัญ คือ
พิจารณาให้ผู้ที่อายุครบ 18 ปีถือว่าอยู่ในวัยฉกรรจ์ แทนการพิจารณาจากความสูง
พิจารณาให้ปลดชราไพร่เมื่ออายุได้ 60 ปี (เดิม 70 ปี)
2443
ทรงออก "พระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. 119" ให้ข้าราชการที่จะเกณฑ์เอาสัตว์หรือพาหนะจากราษฎรต้องเสียภาษีตามสมควร หรือให้ลดเงินส่งส่วยแทนค่าจ้างนั้นก็ได้
2448
ทรงออก "พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124 " บัญญัติให้ชายฉกรรจ์รับราชการทหารกองเกิน 2 ปี แล้วเข้ารับราชการทหารกองประจำการอีก 2 ปี แล้วปลดจากกองประจำการเป็นกองหนุนขั้นที่ 1 อายุ 5 ปี แล้วปลดไปอยู่ในกองหนุนขั้นที่ 2 อายุ 10 ปี แล้วให้ถือว่าหมดหน้าที่รับราชการทหาร
พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการยกเลิกขนบไพร่ ประกาศใช้ในมณฑลนครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ ภูเก็ตและเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2458 (สมัยรัชกาลที่ 6)[ 9] ด้วยความที่ว่าการยกเลิกขนบไพร่เป็นการปลดทุกข์ของราษฎรทุกตำบลทั่วราชอาณาจักร จึงมีความเห็นว่าการยกเลิกขนบไพร่สำคัญยิ่งกว่าการยกเลิกขนบทาสเสียอีก[ 9] เพราะราษฎรได้รับการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจ มีเวลาทำมาหากินได้เต็มที่ และไม่มีใครรังเกียจเหมือนแต่ก่อน
อย่างไรก็ตาม การเสียเงินรัชชูปการ (ภาษีรายหัว) ซึ่งใช้แทนการเกณฑ์แรงงานนั้นมาสิ้นสุดลงในปี 2482[ 10] : 7
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
↑ 1.0 1.1 Baker, Chris; Phasuk Phongpaichit (2017). A History of Ayutthaya: Siam in the Early Modern World . Cambridge University Press. pp. 192–193. ISBN 978-1-316-64113-2 .
↑ ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ . สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. หน้า 106. ISBN 974-276-111-6 .
↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 287.
↑ 4.0 4.1 4.2 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 289.
↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 290.
↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 287–288.
↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 288.
↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 290–292.
↑ 9.0 9.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 293.
↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (สิงหาคม 2548). ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บ.ก.). อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง (PDF) . ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 974-91572-7-3 .
บรรณานุกรม