ตัวอย่างการจัดพื้นที่และเส้นทางในสวนสาธารณะ
การออกแบบและการวางแผนสวนสาธารณะ มีความจำเป็นเนื่องจากการก่อสร้างสวนสาธารณะต้องใช้เงินงบประมาณสูง การไม่ให้ความสำคัญด้านการออกแบบและวางผังเท่าที่ควร ความล้มเหลวในการใช้งานของสวนสาธารณะจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดบ่อยครั้งทั่วโลก ดังนั้น การออกแบบและวางแผนจึงมีความสำคัญและต้องมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับปรัชญาและมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งอาจสรุปได้เป็นหมวดๆ โดยย่อได้ดังนี้
ปรัชญาและแนวคิดในการวางแผนและออกแบบสวนสาธารณะสมัยใหม่
อุทยาน ยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นสถานที่เล่นกีฬาล่าสัตว์ของกษัตริย์และขุนนางและปรับเป็นอุทยานหลวงที่สวยงามแบบธรรมชาติ จึงถือเป็นสถานที่หวงห้ามส่วนบุคคลดังได้กล่าวมาแล้ว แต่หลังจากที่เกิด "อุทยานประชาชน" (people’s parks) ปรัชญาและแนวคิดก็ได้เปลียนไป ยอมให้สาธารณชนเสียเงินหรือเข้าไปใช้ฟรีอย่างมีเงื่อนไข องค์ประกอบและสิ่งอำนวยความสะดวกก็กำหนดโดยเจ้าของ คือกษัตริย์หรือขุนนางชั้นสูงซึ่งมักไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ แต่หลังจากเหตุการณ์ที่ไฮด์ปาร์กและการสร้างสวนเบอร์เก็นเฮดซึ่งเป็นการจงใจออกแบบให้เป็นสวนสำหรับประชาชนที่แท้จริง ปรัชญาและแนวคิดในการออกแบบได้จึงหันมาเน้นความต้องการของประชาชนผู้ใช้สวนมากขึ้น
แบบกระฉับกระเฉง / แบบผ่อนคลาย
สวนสาธารณะในยุคอุตสาหกรรมมักเน้นที่พักผ่อนแบบผ่อนคลายมาก มีบริเวณออกกำลังกายไม่มากสำหรับเด็ก นักเนื่องจากผู้ใช้ที่เป็นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน จึงต้องการที่นั่งพักผ่อนแบบธรรมชาติที่ร่มรื่นมีทิวทัศน์สวยงาม แต่ในระยะหลังที่ประชาชนในเมืองเปลี่ยนจากการทำงานในโรงงานมาเป็นการทำงานในสำนักงาน ความต้องการออกกำลังกายจึงเพิ่มมากกว่าการนั่งหรือเดินพักผ่อน จึงอาจสรุปได้ว่า สวนสาธารณะยุคปัจจุบัน ผู้ใช้วัยทำงานต้องการนันทนาการแบบกระฉับกระเฉง (active recreation) มากกว่าแบบผ่อนคลาย (passive recreation) มากขึ้น ส่วนวัยเด็กและวัยรุ่นยังคงต้องการที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายมากเท่าเดิม
ความหลากหลาย / ความขัดแย้ง
ต้องยอมรับว่าลักษณะเฉพาะของผู้ใช้สวนมีความหลากหลายมากทั้งอายุ รายได้ อาชีพ ขนาดครอบครัว พื้นฐานทางสังคมประเพณี ความนิยมฯลฯ ซึ่งสวนสาธารณะที่ดีจะต้องตอบสนองผู้ให้ใช้ได้มากที่สุดจึงจะลดความขัดแย้งหรือลดการใช้สวนในทางที่ผิดลงได้ ตัวอย่างเช่นการไม่ยอมรับความต้องการตามพฤติกรรมของวัยรุ่นในย่านที่มีวัยรุ่นมาก แต่กลับทำสวนดอกไม้ที่สวยงามหรูหราใหญ่โตอย่างเดียว ในขณะที่วัยรุ่นต้องการลานกีฬา หรือที่เล่นสเกตบอร์ด ความขัดแย้งจากการละเมิด การทำลาย ย่อมมีมากขึ้นและหากเข้มงวด เช่นจัดยามคอยเป่านกหวีดห้าม ปรากฏการณ์การใช้น้อยย่อมเกิดขึ้นเป็นการสูญเปล่าและเกิดความไม่เสมอภาค โดยเฉพาะในประเทศที่ยังขาดแคลนสวนสาธารณะ เช่นประเทศไทย อย่างไรก็ดี การจัดให้มีองค์ประกอบให้ครบถ้วนตามลักษณะประชากรย่อมขึ้นอยู่กับขนาดเนื้อที่ของสวนและงบประมาณ การออกแบบจึงต้องทำให้มีความเป็นอเนกประสงค์ให้มากที่สุดโดยให้คงความร่มรื่นสวยงามไว้ได้
มาตรฐาน
โดยทั่วไป ในด้านการผังเมือง มักกำหนดมาตรฐานด้านการวางแผนและออกแบบในด้านต่างๆ ของสถานที่พักผ่อนหย่อนใจไว้ มาตรฐานดังกล่าวของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับขนาด ความหนาแน่นและลักษณะประชากรของประเทศหรือเมืองนั้นๆ
ปริมาณ
ได้แก่มาตรฐานจำนวนเนื้อที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจที่รวมที่เว้นว่าง สีเขียวของเมือง (recreation and open spaces) โดยรวมต่อจำนวนประชากร เช่น 25 ไร่ต่อประชากร 1000 คนและ 2.5 ไร่ต่อประชากร 800 คนสำหรับสนามเล่นกีฬาและสนามเด็กเล่นตามชุมชนของสหรัฐฯ และในในแต่ละรัฐก็ไม่เท่ากัน สำหรับประเทศไทย ครั้งหนึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ เคยกำหนดพื้นที่พักผ่อนโดยรวมสำหรับประเทศไทยไว้ที่ 10 ไร่ต่อประชากร 1000 คน ตามข้อเสนอสำหรับผังเมืองกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า "ผังลิชฟิลด์" (พ.ศ. 2500) ซึ่งต่อมาได้มีหลายหน่วยงานนำไปใช้ เช่น สำนักผังเมืองทั้งของกระทรวงมหาดไทยและของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ผังเมืองกรุงเทพฉบับปรับปรุงใหม่ทำได้เพียง 1.8 ไร่ต่อประชากร 1000 คน นอกจากการใช้จำนวนไร่ต่อประชากร 1000 คนแล้ว บางหน่วยงานอาจกำหนดมาตรฐานเป็น "ตารางเมตรต่อคน" แต่ไม่นิยมใช้
ลำดับศักย์ หรือ ประเภท
แบ่งเป็นสวนสาธารณะระดับภาค (regional parks) ได้แก่สวนสาธารณะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากที่ใช้ร่วมกันได้หลายจังหวัด ระดับมหานคร (metropolitan parks) สำหรับประชาชนทั้งมหานครและหลั่นลงเป็นระดับเมือง (city parks) ระดับย่านหรืออำเภอ (district parks) ระดับชุมชน (community parks) จนถึงระดับละแวกบ้าน (neighborhood park) รวมถึงสนามเด็กเล่น มีการกำหนดมาตรฐานขนาดเนื้อที่และระยะทางมาใช้สวนในแต่ละระดับ รวมทั้งประเภทของกิจกรรม
สิ่งอำนวยความสะดวก
ในแต่ละลำดับชั้นของสวนสาธารณะจะมีการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมการพักผ่อนในรูปแบบต่างๆ การที่จะเรียกเป็นสวนสาธารณะได้นั้น จะต้องจัดให้มีองค์ประกอบที่ตรงกับความต้องการของ "สาธารณะ" ได้แก่กลุ่มอายุ กลุ่มรายได้ ความนิยม ฯลฯ สมัยหนึ่ง สนามเด็กเล่นและที่เล่นกีฬาถือเป็นภาคบังคับ เนื่องจากพบว่าอัตราการป่วยเป็นวัณโรคและอาชญากรรมรอบๆ สวนสาธารณะที่มีสนามเด็กเล่นและสนามกีฬาในเมืองแออัดของประเทศต่างๆ ในยุโรปมีน้อยกว่าสวนสาธารณะประเภทสวยงามเป็นธรรมชาติที่จัดแบบเก่า แต่ในปัจจุบัน หลักสำคัญในการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ที่ความหลากหลายและความเป็นอเนกประสงค์ที่จะสามารถสนองตอบต่อผู้ใช้สวนโดยรวมได้มากที่สุด รวมทั้งสนามเล่นกีฬาและสนามเด็กเล่น
ขนาดและการกระจาย
ขนาดของสวนในแต่ละประเภทจะขึ้นอยู่กับขนาดของสิ่งอำนวยความสะดวกที่บรรจุอยู่ในนั้น แต่ในความเป็นจริง ขนาดของสวนกลับอยู่ที่ว่าจะหาได้ที่ดินได้มากน้อยเท่าใด โดยเฉพาะสวนสร้างใหม่ในเขตเมืองที่มีที่ดินราคาแพง ปกติสวนสาธารณะจัดเป็น "การใช้ที่ดิน " หนึ่งในเจ็ดประเภทในงานผังเมืองที่จะต้องมีการจัดเตรียมล่วงหน้า ขนาดของสวนระดับละแวกบ้านจึงมีขนาดเล็กได้ แต่ต้องสามารถจัดให้มีบริเวณเด็กเล่นหรือสนามเด็กเล่นวัย 0-8 ขวบและที่นั่งพักสบายๆ วิวดีและปลอดภัยสำหรับผู้ปกครองที่พาเด็กมาและสำหรับผู้สูงอายุซึ่งอาจใช้พื้นที่เพียง 100 ตารางวาขึ้นไปที่ผู้ใช้สามารถพาเด็กหรือคนชราให้เดินมาใช้ได้
ในทำนองเดียวกัน สวนสาธารณะระดับมหานครจะต้องใหญ่พอสำหรับกิจกรรมที่สวนระดับรอง ๆ ลงไปจัดให้ไม่ได้ เช่น พื้นที่ศึกษาธรรมชาติ อาคารทำกิจกรรม บริเวณปิกนิก ที่เล่นกีฬาใหญ่ ๆ เช่น สนามฟุตบอล สนามเทนนิส หรือสระว่ายน้ำ ขนาดใหญ่ รวมทั้ง สระน้ำ หรือบึง ธรรมชาติ และเส้นทางจักรยาน ซึ่งมักใช้เป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือนาน ๆ ครั้งสำหรับประชาชนทั้งเมืองใหญ่ สวนวชิรเบญจทัศ (สนามกอล์ฟรถไฟเดิม) ขนาด 450 ไร่ เมื่อผนวกกับสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนจตุจักร เดิม กลายเป็นอุทยานสวนจตุจักร รวมได้ 790 ไร่ ก็นับเป็นตัวอย่างของสวนมหานครขนาดเล็กได้ ปกติ สวนสาธารณะระดับมหานครควรมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 800 ไร่ เช่น เซ็นทรัลพาร์ก ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐ มีขนาด 1,250 ไร่ ซึ่งในประเทศไทย จะมีแห่งแรกที่สวนหลวง ร.10 (สวนสาธารณะที่เกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างสวนหลวง ร.9 และศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน )
ในด้านมาตรฐานกระกระจายถือระยะทางเดินไปใช้สวนเป็นหลัก โดยเฉพาะสวนระดับละแวกบ้านและชุมชน ในบางกรณี ระยะนกบินหรือระยะที่วัดตรงในแผนที่อาจนำมาใช้ไม่ได้ เช่น สวนที่ห่างจากย่านพักอาศัยเพียง 100 เมตรแต่มีถนนใหญ่ ทางรถไฟหรือทางน้ำขวางกั้น ดังนั้น การกระจายจึงถือระยะเดินทางจริงที่ระดับดินและความปลอดภัยในการเข้าถึงเป็นหลัก
ลักษณะสวนสาธารณะที่ดี
รูปแบบลักษณะสวนสาธารณะตามความต้องการ
จัดให้มีพื้นที่ออกกำลังกายในสัดส่วนที่มากขึ้น และบางแห่งอาจจัดให้มากกว่าพื้นที่แบบผ่อนคลาย
จัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเน้นครอบครัว เช่น ให้ ผู้สูงอายุ เช่น ปู่ย่า / พ่อ-แม่ - วัยทำงาน/ วัยรุ่นและเด็กเล็กสามารถมาที่สวนเดียวกันพร้อมกันได้โดยไม่เบื่อและรบกวนกัน
มีพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้ได้ทั้งการออกกำลังกายและทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่นการแสดงและการเล่นดนตรี
มีความร่มรื่น สวยงาม เขียวสะอาด และดูแลรักษาง่าย
เข้าถึงสะดวก ทางเข้าเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนหรือชุมชน ให้ความสำคัญทางเดินเท้า แยกทางรถยนต์และที่จอด
มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอและตอบสนองต่อภูมิอากาศ
ลดหรือขจัดการรบกวนระหว่างกิจกรรมที่ขัดแย้งกันด้วยการแบ่งเขตและการออกแบบที่ดี
มีความปลอดภัยสูงทั้งจากอาชญากรรมและจากอุบัติเหตุ
อ้างอิง
Piet Oudolf, Noel Kingsbury Planting Design: Gardens in Time and Space (Timber Press 2005)
Weishan, Michael. The New Traditional Garden: A Practical Guide to Creating and Restoring Authentic American Gardens for Homes of All Ages. ISBN 0-345-42041-1
ดูเพิ่ม