การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประดิษฐาน ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี (วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์)

การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์ไทยเพียงพระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 เป็นเหตุการณ์ที่มีคำอธิบายหลายอย่าง ในหลักฐานร่วมสมัยส่วนใหญ่มักถือว่าพระองค์ทรงเสียพระสติ หรือสติฟั่นเฟือน จึงทรงถูกขบถ และสำเร็จโทษโดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) อันเป็นการสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรี พร้อมกับการเริ่มต้นของราชวงศ์จักรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏหลักฐานที่ชี้ว่าพระองค์สวรรคตด้วยสาเหตุอื่น

การถูกสำเร็จโทษเพราะเสียพระสติ

พระสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หน้าพระอุโบสถหลังเดิม วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือนอก หรือตามที่เรียกในพระราชพงศาวดารว่า วัดบางยี่เรือใต้) ภายหลังมีผู้ขนานนามพระสถูปนี้ว่า "พระเจดีย์กู้ชาติ" ร่วมกับพระสถูปอีกองค์หนึ่งที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมอัฐิของกรมหลวงบาทบริจา พระอัครมเหสีของพระองค์

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งไปราชการทัพเมืองเขมร และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงได้รีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นไปทำศึกกับเขมร จึงกลับมายังกรุงธนบุรีถึงในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เห็นว่าความไม่สงบของบ้านเมืองเกิดจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร[1]ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วฝังพระบรมศพที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทารามวรวิหาร) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325[2] เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา สิริรวมครองราชย์ได้ 15 ปี และถือเป็นจุดสิ้นสุดของกรุงธนบุรี จากนั้นจึงได้สืบสวนความผิดของผู้ก่อกบฏ แล้วตัดสินให้นำพระยาสรรค์กับพวกไปประหารชีวิตในเวลาต่อมา[3]

การวิเคราะห์

สำหรับสาเหตุที่พระองค์เสียพระจริตนั้น มีหลักฐานได้อธิบายไว้หลายสาเหตุ สามารถจำแนกได้ดังนี้

สาเหตุของการเสียพระจริตนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามทัศนะของชนชั้นสูงต่างยุคสมัย[8] แต่ทั้งหมดนี่เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เพราะแนวคิดในการพิสูจน์ความจริงนั้นได้ถูกละเลย[7]

นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายใน การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด (หรือ "ดุร้าย") ในสมัยปลายรัชกาลนั้น คงเป็นเพราะพระราชอำนาจที่เสื่อมลง[9] พระองค์ยังทรงประพฤติไม่เหมือนกับพระมหากษัตริย์อยุธยาแต่เดิมด้วย จนกลุ่มขุนนางอยุธยาแต่เดิมสูญเสียความศรัทธา และถูกมองว่าเสียสติ[10] ทั้งนี้ หลักฐานพงศาวดารซึ่งบันทึกอาการวิกลจริตของพระองค์ล้วนถูกเขียนขึ้นภายหลังการสวรรคตของพระองค์ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับข่าวการเสียสติของพระองค์[11] ในขณะที่จดหมายโหรร่วมสมัยได้บันทึกว่า พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นปกติจนถึง พ.ศ. 2324[12] การเสียสติของพระองค์จึงไม่ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัย แต่บางฉบับก็บอกว่าเป็นวันเดียวกัน ซึ่งยังไม่มีใครทราบเป็นที่แน่ชัด

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก่อรัฐประหาร

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวช ในวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดอินทารามวรวิหาร

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์ว่า การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงประกอบพระราชกรณียกิจแปลกไปจากพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทำให้พระองค์ทรงถูกมองว่าไม่เคารพต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิม[13] และถูกกลุ่มชนชั้นสูงต่อต้าน ข่าวลือการเสียพระสติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกแพร่ออกไปเพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้ต้องการโค่นล้มพระองค์จากพระราชอำนาจ[14] กลุ่มชนชั้นสูง (ไม่รวมราษฎรสามัญ) ได้รับความเดือดร้อนจากความประพฤติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[13] พระองค์ยังได้สร้างความไม่ประทับใจให้กับฝ่ายของพระองค์เองอีกด้วย[7] ท้ายที่สุดแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ไม่สามารถรักษาพระราชอำนาจต่อไปได้ กลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางภายใต้การนำของพระยาจักรีจึงรัฐประหาร[15]

ในบทความ "ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี" เขียนโดยปรามินทร์ เครือทอง ได้ลำดับเหตุการณ์รัฐประหารไว้ว่า:

แผนรัฐประหารเริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2324 ระหว่างการปราบปรามจลาจลในเขมร สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าวความไม่ปกติในกรุงธนบุรี จึงให้พระยาสุริยอภัยผู้หลานมาคอยฟังเหตุการณ์อยู่ที่เมืองนครราชสีมา[16] เวลาเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ลอบทำสัญญากับแม่ทัพญวน ฝ่ายแม่ทัพญวนก็ให้กองทัพญวน-เขมรนั้นล้อมกองทัพกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้[17]

แรมเดือน 4 พ.ศ. 2325 ขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์, นายบุนนาค นายบ้านในเขตกรุงเก่า และขุนสุระ นายทองเลกทองนอก ทั้งสามได้คิดก่อการปฏิวัติขึ้น โดยรวบรวมกำลังพลจำนวนหนึ่งไปสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ฝ่ายเจ้าเมืองอยุธยา พระอินทรอภัย หนีรอดมาได้ กราบบังคบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จึงให้พระยาสรรค์ขึ้นไปปราบ แต่ภายหลังได้กลายเป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงธนบุรี[18]

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2325 ทัพพระยาสรรค์ได้เข้าล้อมกำแพงพระนคร รบกับกองทัพซึ่งรักษาเมืองจนถึงเช้า ครั้นรุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชบัญชาให้หยุดรบ พระยาสรรค์ก็ถวายพระพรให้ผนวช[19] สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงออกผนวชเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2325 วันรุ่งขึ้น พระยาสรรค์ก็ออกว่าราชการชั่วคราว[2]

แต่มาภายหลัง พระยาสรรค์ได้ปล่อยตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามมาช่วยกันรบป้องกันพระนครจากกองทัพพระยาสุริยอภัย[20] ทั้งสองทัพรบกันเมื่อราว 2-3 เมษายน พ.ศ. 2325 พระยาสรรค์และกรมอนุรักษ์สงครามแตกพ่ายไป[21] จนเมื่อถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ยกทัพมาถึงกรุงธนบุรี[2]

ทรงสละราชบัลลังก์และออกผนวชที่นครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ชาวไทยบางกลุ่มยังเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ แต่ทรงจงใจสละราชบัลลังก์เพื่อจะได้มิต้องชำระเงินกู้จากจีน เมื่อทรงได้รับการปล่อยตัวอย่างลับ ๆ แล้วจึงเสด็จลงเรือสำเภาไปประทับที่วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช[22] โดยผนวชเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่นั่นตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2368 รวมพระชนมายุได้ 91 ปี 43 พรรษา[23][24]

ส่วนบุคคลที่ถูกประหารชีวิตนั้น กล่าวกันว่าเป็นบุคคลที่มีใบหน้าบุคลิกลักษณะที่คล้ายพระองค์ มารับอาสาปลอมตัวแทนพระองค์ ซึ่งอาจเป็นพระญาติหรือมหาดเล็กใกล้ชิด [25]

แต่ความเชื่อในเรื่องดังกล่าว มาจากเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์ "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน" ของหลวงวิจิตรวาทการ โดยเขียนถึงที่มาของเรื่องดังกล่าวไว้ตอนต้นของเรื่องว่า เกิดขึ้นระหว่างที่เขาทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติได้ประมาณ 6 เดือน และเกิดเหตุการณ์ลึกลับที่หอเอกสารเก่าเกี่ยวกับช่วงปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี จนทำให้ยามเฝ้าหอสมุดลาออกจากงานหลายคน ท่านตัดสินใจมานอนเฝ้าที่หอสมุดด้วยตนเองเพื่อพิสูจน์ความจริง และคืนหนึ่งท่านก็ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งลึกลับ ให้เขียนเรื่องสั้นนี้ขึ้นด้วยลายมือของตัวเอง ตามคำบอกเล่าของสิ่งลึกลับนั้น[26]

อ้างอิง

  1. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548, หน้า 230
  2. 2.0 2.1 2.2 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. หน้า 183-186. ISBN 978-616-7308-25-8
  3. สมชาย พุ่มสอาด, เบื้องหลังกบฏพระยาสรรค์, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 4 ฉบับที่ 6, เมษายน 2526 หน้า 8-15
  4. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 96.
  5. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 399.
  6. ปาลเลกัวซ์, มงเซเญอร์, เล่าเรื่องกรุงสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552, หน้า 369
  7. 7.0 7.1 7.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 400.
  8. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 399-400.
  9. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 392.
  10. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 394.
  11. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 395.
  12. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 396.
  13. 13.0 13.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 398.
  14. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 397.
  15. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 401.
  16. ปรามินทร์ เครือทอง. หน้า 84.
  17. ปรามินทร์ เครือทอง. หน้า 86.
  18. ปรามินทร์ เครือทอง. หน้า 87.
  19. ปรามินทร์ เครือทอง. หน้า 88.
  20. ปรามินทร์ เครือทอง. หน้า 88-89.
  21. ปรามินทร์ เครือทอง. หน้า 89.
  22. ทศยศ กระหม่อมแก้ว. พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550. 176 หน้า. ISBN 978-974-7303-62-9
  23. Taksin, Encyclopædia Britannica 2001 "...Some historians believe that Taksin was secretly spirited away from Thon Buri in 1782 and lived in a mountain retreat in southern Thailand until 1825."
  24. David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press. p. 145. ISBN 0300035829.; Siamese/Thai history and culture-Part 4 เก็บถาวร 2007-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน "...another tradition has it that a substitute was put to death in his place and that Taksin was sent secretly to it palace near Nakhon Si Thammarat, where he lived until 1825."
  25. สุทัสสา อ่อนค้อม. ความหลงในสงสาร. กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์, 2555. 552 หน้า. ISBN 978-611-550-001-7
  26. ชำแหละตำนานนอกพงศาวดารหลัง พระเจ้าตาก “หนีตาย” หรือ “หนีหนี้” สู่เมืองนครฯ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2553 สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2564

บรรณานุกรม

ดูเพิ่ม

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!