การประชามติว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญพม่า พ.ศ. 2551

การประชามติว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ทั่วสหภาพพม่า ตามประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ของสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ[1] และวันที่ 24 พฤษภาคม 2551 สำหรับพื้นที่ประสบพิบัติภัยจากพายุหมุนนาร์กิส

รายละเอียดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

คณะทหารได้จัดให้มีการพิมพ์เผยแพร่แก่สาธารณะซึ่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า และตามการแถลงของคณะทหาร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีสาระสำคัญเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอันเป็นระบบระเบียบ"[2] และจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปใน พ.ศ. 2553 ด้วย

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 คณะทหารได้ตรากฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการออกเสียงประชามติเช่นว่าด้วย[3] โดยกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการอำนวยความสะดวกในการลงคะแนนลับ และให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการนับคะแนนนั้นได้ ทั้งนี้ ไม่มีข้อมูลว่าคะแนนลับที่เอ่ยถึงคืออะไร[4]

อย่างไรก็ดี นานาชาติต่างมองว่าประชาธิปไตยในพม่าดูเลือนรางนักแม้จะได้มีการออกเสียงประชามติครั้งนี้ก็ตาม เพราะร่างรัฐธรรมนูญของพม่ากำหนดให้ที่นั่งหนึ่งในสี่ของสภานิติบัญญัติมีไว้สำหรับข้าราชการทหาร และคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองก็ยังคงมีอิทธิพลเหนือกระทรวงกลาโหมซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดและควบคุมการประชามตินี้อยู่[5] อีกประการหนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญพม่ายังตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งของชาวพม่าที่สมรสกับชนต่างด้าว ซึ่งได้แก่ นางอองซานซูจี อีกด้วย[6]

การรณรงค์และการประชาสัมพันธ์

รัฐบาลทหารพม่าได้สั่งให้บรรดาสื่อมวลชนในประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้มีการรับร่างธรรมนูญเท่านั้น โดยในโทรทัศน์ของรัฐทุกช่องจะปรากฏแถบข้อความว่า “เชิญชาวเรารับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มพูนประโยชน์บ้านเมือง” (Let's vote Yes for national interest) กับทั้งมีการเปิดเพลงเชิญชวนให้ออกเสียง “รับ” ผ่านสถานีแพร่ภาพและกระจายเสียงของรัฐทุกประเภทตลอดวัน[6]

สันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งสหภาพพม่า (สปต.) อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีนางอองซานซูจี เป็นหัวหน้า ก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกเสียง “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี สปต. แถลงว่า รัฐบาลทหารได้สั่งให้ระงับการประชาสัมพันธ์เช่นนี้ กับทั้งสั่งจับผู้ประชาสัมพันธ์และให้ยึดสื่อประชาสัมพันธ์เสียสิ้น[6]

เหตุการณ์ภายหลังพายุหมุนนาร์กิส

ถึงแม้ว่าจะบังเกิดภาวะมหันตภัยเพราะพายุหมุนนาร์กิสในพม่าไม่กี่วันก่อนวันออกเสียงประชามติ แต่ในเบื้องแรกรัฐบาลทหารพม่าคงยืนยันว่าจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญพม่าตามที่กำหนดไว้ในวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2551 ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากทั้งพรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซูจี และจากนานาชาติ โดยในวันที่ 8 พฤษภาคม ผู้ประท้วงสามสิบคนได้ไปชุมนุมหน้าสถานเอกอัครรัฐทูตพม่าประจำกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเลื่อนการประชามติ และให้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ คณะผู้ชุมนุมออกแถลงการณ์ว่า บัดนี้ไม่ใช่เวลาสำหรับการเมือง หากเป็นเวลาแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ ซึ่งในวันเดียวกัน รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้ร้องขอต่อสหประชาชาติมิให้รับรองการประชามติดังกล่าว และนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งสหภาพพม่าเพื่อประชาธิปไตย ออกมาแถลงว่า การจัดให้มีการออกเสียงประชามติท่ามกลางภาวะทุกข์เข็ญเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง[7] ต่อมาได้มีประกาศเลื่อนการประชามติเฉพาะนครย่างกุ้งและพื้นที่ประสบพิบัติภัยไปเป็นวันที่ 24 พฤษภาคม 2551[8]

[9]อนึ่ง ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2551 สำนักข่าวมิซซิมา (Mizzima) แห่งสหภาพพม่าได้จัดให้มีการสำรวจความคิดเห็นของชาวพม่าว่าด้วยการประชามติครั้งนี้ การสำรวจดำเนินการผ่านการสอบถามทางโทรศัพท์และการสัมภาษณ์ซึ่งหน้า สิริจำนวนผู้ตอบการสำรวจสี่ร้อยสิบหกคน เป็นชายสองร้อยสิบแปดคน หญิงหนึ่งร้อยเก้าสิบแปดคน ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ กรรมกร แม่บ้าน และอื่น ๆ ผลดังนี้[ต้องการอ้างอิง]

การสำรวจ ผลในรูปร้อยละ ผลโดยจำนวนผู้ตอบ (คน)
จะไปออกเสียงประชามติไหม 64% ไป
24% ไม่ไป
12% ยังไม่ได้ตัดสินใจ
268 : ไป
49 : ไม่ไป
99 : ยังไม่ได้ตัดสินใจ
รู้ไหมว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร 71% ไม่รู้
19% รู้
10% ไม่ตอบ
295 : ไม่รู้
81 : รู้
40 : ไม่ตอบ
จะออกเสียงว่าอย่างไร 52% ยังไม่ได้ตัดสินใจ
28% ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
17% รับร่างรัฐธรรมนูญ
3% ไม่ได้ใส่ใจ
218 : ยังไม่ได้ตัดสินใจ
115 : ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
71 : รับร่างรัฐธรรมนูญ
12 : ไม่ได้ใส่ใจ
ทำไมถึงไปออกเสียง 61% รู้ว่าควรไปใช้สิทธิ
20% เหตุผลอื่น
10% ไม่ตอบ
6% ถูกบังคับ
3% ถูกซื้อเสียง
254 : รู้ว่าควรไปใช้สิทธิ
82 : เหตุผลอื่น
44 : ไม่ตอบ
24 : ถูกบังคับ
12 : ถูกซื้อเสียง
พื้นที่ที่สำรวจ 36% นครย่างกุ้ง
14% เขตอิรวดี
13% นครมัณฑะเลย์
13% นครพะโค
12% รัฐยะไข่
12% เขตมะกเว
0% เขตซะไกง์
148 : นครย่างกุ้ง
58 : เขตอิรวดี
56 : นครมัณฑะเลย์
55 : นครพะโค
49 : รัฐยะไข่
48 : เขตมะกเว
2 : เขตซะไกง์
อายุของผู้ตอบ 29% 34—40 ปี
24% 24—30 ปี
20% 41—50 ปี
10% 18—23 ปี
9% 60 ปี และ 60 ปีขึ้นไป
8% 51—60 ปี
122 : 34—40 ปี
98 : 24—30 ปี
82 : 41—50 ปี
43 : 18—23 ปี
36: 60 ปี และ 60 ปีขึ้นไป
35 : 51—60 ปี

อ้างอิง

  1. Burma sets date for popular votes BBC News, 9 February 2008
  2. "Burma's military issues warning before poll", ABC Radio Australia, April 9, 2008
  3. Myanmar enacts constitutional referendum law, form referendum commission - People's Daily Online
  4. english.eastday.com
  5. New Burma constitution published, BBC, 2008-04-09, accessed on 2008-04-10
  6. 6.0 6.1 6.2 Many voices silenced as Myanmar vote campaign gets under way เก็บถาวร 2011-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Philippine Daily Inquirer, 2008-04-20
  7. ไทยรัฐ. (2551, 8 พฤษภาคม). พม่านับล้านไร้ที่อยู่ ศพอืดเน่า ผวาโรคระบาดซ้ำ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=88971 เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (8 พฤษภาคม 2551).
  8. Official: UN plane lands in Myanmar with aid after cyclone. (2008, 9 May). [Online]. Available: http://ap.google.com/article/ALeqM5greyFH3qkj9mc9oagSoulgjN4KHgD90HICSO3 เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (9 May 2008).
  9. Mizzima. (2008, 9 May). Poll finds a divided and indecisive public on referendum. Available: https://web.archive.org/web/20080504072706/http://www.mizzima.com/referendum-watch/17-referendum-watch/409-poll-finds-a-divided-and-indecisive-public-on-referendum- . (9 May 2008).

ดูเพิ่ม

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!