กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ (อักษรย่อ: วศ.ทร.;[36] อังกฤษ: Naval Science Department) เป็นส่วนราชการ[37] ที่มีบทบาทด้านการศึกษา, ค้นคว้า และทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในกองทัพเรือไทย[38]เจ้ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารเรือคนปัจจุบันได้แก่ พลเรือตรี กริช ขันธอุบล[39]
รองเจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้แก่ นาวาเอก เกียรติกูล ไชยสังวล และ นาวาเอก วิสิทธิ์ เดชพิริยะภัทร
กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้รับการจัดอยู่ในรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ตามกลไกของเลขาธิการสหประชาชาติ[40] รวมถึงมีบทบาทในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เมื่อครั้งที่เกิดการระบาดทั่วของโควิด-19[41][42][43][44]
ประวัติ
กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ถือกำเนิด ณ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ในฐานะ "หอวิทยาศาสตร์" ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมเสนาธิการทหารเรือ โดยมีภารกิจด้านการวิเคราะห์เคมี, การทดสอบฟิสิกส์ และการทดลองไฟฟ้า ต่อมา ขอบเขตและภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ของกองทัพเรือมีมากขึ้น จึงเปลี่ยนฐานะจาก "หอวิทยาศาสตร์" มาเป็น "กองวิทยาศาสตร์ทหารเรือ" และ "กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ" ตามลำดับ[20]
พ.ศ. 2561 กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้จัดงานวิทยาศาสตร์วิชาการ ครั้งที่ 1 เพื่อเผยแพร่ผลงานสาขาวิทยาศาสตร์ของกองทัพเรือสู่สาธารณชน โดยมีกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกเข้าร่วม เพื่อนำเสนอแนวคิดในการปฏิบัติงานร่วมกัน[45]
ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง
พ.ศ. 2561 กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้มีส่วนช่วยค้นหาทีมฟุตบอลเยาวชน 13 รายที่ติดถ้ำ ในด้านอุปกรณ์[46] โดยมีกำลังพลจากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ 4 นาย[47][48]
การระบาดทั่วของโควิด-19
จากเหตุการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ได้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในกระบวนการทำความสะอาดฆ๋าเชื้อ[49][50][51][52][53] ทั้งจากประเทศจีน,[54][55][56][57][58] เกาหลีใต้,[59][60][61][62][63] อิตาลี[64][65] และสหรัฐ[66] ตลอดจนผลิตเจลล้างมือ เพื่อส่งมอบให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในกองทัพเรือไทย รวมถึงประชาชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019[67][68][69]
จากการมีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญของประเทศ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำสารความรู้สึกจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย แสดงความขอบคุณกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ในการปกป้องชีวิตประชาชน และป้องกันการแพร่ระบาด[70]
กิจกรรมเพื่อสังคม
กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้จัดการแข่งขันโบว์ลิ่งการกุศล เพื่อหารายได้สนับสนุนการศึกษาแก่บุตรข้าราชการและลูกจ้างในสังกัด ตลอดจนสนับสนุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน ที่อยู่ในการอุปถัมภ์โดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ[71][72]
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ยังมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และจัดกิจกรรมพัฒนาสวนสาธารณะให้แก่ชุมชน[36]
สิ่งสืบทอด
กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้ดำเนินการจัดสร้างพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ บริเวณด้านหน้าของสำนักงาน เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร[73] โดยมีพิธีเททองหล่อพระรูปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และอันเชิญพระรูปขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ 28 กันยายน ของปีเดียวกัน[74]
และที่โรงเรือนกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ได้มีการเก็บรวบรวมพืชหายากประจำถิ่นบางชนิดเพื่อขยายพันธุ์ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ห้องปฏิบัติการ กระทั่งได้อายุตามเกณฑ์แล้วจึงนำไปปลูกคืนในสถานที่ที่เหมาะสม และมีการแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชน เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อ[75]
อ้างอิง